Friday, September 27, 2019

lent day

บวชนาคไม่มีในอินเดีย แถมเข้าพรรษาเดิมก็ไม่ใช่ประเพณีพุทธ?

เมื่อคิดถึงวันเข้าพรรรษา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเอ่ยถึงการ “บวชนาค”

"นาค" เป็นคำใช้เรียก "คน" ผู้ชายที่จะขออุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุ คนไทยนิยมบวชกันในช่วงเข้าพรรษา ก่อนบวชพระต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล เรียกว่า นาค ถือเป็นประเพณีโบราณนานมาแล้ว ไม่เรียกพิธีอุปสมบทว่าบวช "คน" ให้เป็น "พระ" แต่เรียกบวช "นาค" ให้เป็น "พระ" เพราะเล่าต่อๆ กันมาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มเล่าว่า มีนาคแอบมาบวชเป็นพระ แล้วพระพุทธเจ้าจับได้จึงให้สึก และด้วยน้ำพระทัยอันเมตตาของพระพุทธองค์ จึงได้มีพระพุทธบัญญัติให้เรียกคนที่เตรียมจะบวชเป็นพระว่า นาค เพื่อรำลึกถึงนาคตนนั้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าเรื่อง “นาค” ปลอมเป็น “มนุษย์” มาบวชเป็นมนุษย์แล้วถูกจับได้นั้นมีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก แต่ข้อความในพระไตรปิฎกจบลงที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินให้ “สึก” เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการให้ “บวชนาค” เพื่อเป็นการระลึกถึงอย่างที่เราเข้าใจ พิธีบวชนาคจึงเป็นเรื่องพื้นเมืองของเรานี่เอง ไม่มีในอินเดียเสียหน่อย

ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าจึงไม่มีเรื่อง “บวชนาค” เพราะมีแต่ “สึกนาค” ต่างหาก พิธีบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีปคือไม่มีร่องรอยในอินเดียสมัยโบราณ แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า เขมร ลาว และไทยปัจจุบัน

ที่ลังกาก็มีการบวชนาค แต่ชาวลังกาเองก็ไม่สามารถอธิบายได้นะครับ ว่าคืออะไร? และมาจากไหน? พิธีบวชนาคในลังกาจึงเพิ่งรับไปใหม่จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระอุบาลี จากวัดธรรมาราม อยุธยา รับนิมนต์ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่าง “สยามวงศ์” ที่ลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. 2295 นี่เองนะครับ

คือเป็นคนในอุษาคเนย์แท้ๆ นี่แหละ ที่อธิบายไม่ได้ว่าพิธีบวชนาคคืออะไร? มาจากไหน? แล้วพากันโอนกลับไปที่อินเดีย ทั้งๆ ที่อินเดียไม่เคยมีบวชนาคเลยเสียหน่อย

ปราชญ์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายคำว่า "นาค" เอาไว้ว่าเป็นคำในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป มีรากเดิมมาจากคำว่า "นอค" (Nog) แปลว่า "เปลือย” หรือ "แก้ผ้า" ภาษาอังกฤษรับมาใช้กลายเป็นคำว่า Naked ที่แปลว่าเปลือยเหมือนกัน ดังนั้น นาค จึงไม่ใช่ทั้งคำไทย-ลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร แต่ทั้งตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่า "งู" เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด แล้วมโนเพิ่มเติมกันต่อไปว่าหัวหน้างูทั้งหลายคือ พญานาค มีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียกว่า บาดาล

เมื่อ "นาค" มาจาก "นอค" หมายถึงเปลือย หรือแก้ผ้า ปราชญ์หรือนักวิชาการหลายท่านจึงอ้างว่า คำว่า นาค เป็นคำของพวกมีวัฒนธรรมสูงกว่าที่รู้จักทอผ้านุ่งห่มแล้ว ใช้เรียกผู้มีวัฒนธรรมต่ำกว่าคือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม ยังเป็น "คนเปลือย" หรือคนแก้ผ้า  อย่างดีก็เอาใบไม้มามัดผูกเป็นเครื่องนุ่งห่ม

ยิ่งเมื่อนิทานการกำเนิดฟูนัน รัฐเริ่มแรกของอุษาคเนย์เล่าว่า พราหมณ์โกณฑิณยะ จากชมพูทวีปเดินทางข้ามสมุทร แล้วปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิงชื่อ “นางนาคโสมา” ซึ่งก็คือ “นางเปลือยโสมา”
เอกสารจีนก็มีจดบันทึกนิทานเรื่องนี้ไว้โดยเรียกนางนาคโสมาว่า "หลิวเย่" แปลว่านางใบมะพร้าว เข้าใจว่าคือ ไม่นุ่งผ้า แต่เอาใบมะพร้าวมาห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น

ดังนั้น "นางหลิวเย่" ก็คือ "นางนาค" หมายถึง "นางเปลือย" นางแก้ผ้า ตามทัศนะของคนนอก คือพวกพราหมณ์จากชมพูทวีป

ผมคิดว่าคำ "เปลือย" นี้น่าสนใจมากนะครับ วัฒนธรรมอุษาคเนย์รู้จักการใช้ผ้าผ่อนมาแต่สมัยก่อนรู้จักกับอินเดียแน่ ข้อมูลการวิจัยทางโบราณคดีในช่วงหลังๆ มานี้ก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าของคนในยุคก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป ซึ่งก็พบว่ามีการใช้ผ้าหลายชนิด มีทั้งที่ผลิตเอง และนำเข้าเสียด้วยสิ

คำว่า “นาค” ที่ส่อความถึง “เปลือย” ในตำนานต่างๆ จึงควรจะมีความหมายในเชิง "วัฒนธรรม" มากกว่าที่จะเป็นการนุ่งเปลือยห่มเปลือยจริงๆ

"นาค" คือคนพื้นเมือง จึงไม่ได้เปลือยตนเอง แต่ถูกคนนอกคือพวก "พราหมณ์" หรือ "พุทธ" จับเปลือยทางวัฒนธรรม โดยอ้างว่าฝ่ายชมพูทวีปมีวัฒนธรรมสูงส่งกว่าต่างหาก

แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะบวชนาคเท่านั้นนะครับที่เป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่ของอุษาคเนย์ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เดิมประเพณีเข้าพรรษาก็ไม่ใช่ของชาวพุทธ แต่ได้มาจากธรรมเนียมเดิมในชมพูทวีปที่มีมาก่อน เรื่องนี้ผมได้ความรู้มาจาก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนาฮินดูอย่าง อ.คมกฤช “เชฟหมี” อุ่ยเต็กเค่ง แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเคยอธิบายเรื่องดังกล่าวไว้ในเฟซบุ๊คบัญชีส่วนตัวของท่านเมื่อสองปีที่แล้ว

อาจารย์เชฟหมีอ้างเอาไว้ว่า ในพระบาลี (คือพระไตรปิฎก) มีการแสดงเหตุผลเกี่ยวกับการ “เข้าพรรษา” ว่า บรรดานักบวชในศาสนาต่างๆ ก่อนพุทธศาสนาก็ได้ปฏิบัติมาก่อน พระพุทธองค์จึงได้อนุโลมให้พระภิกษุเอาอย่างนักบวชเหล่านั้น โดยรับมาปรับใช้

ในส่วนของศาสนาฮินดูเรียกการ “เข้าพรรษา” ว่า “จตุรมาศ” แปลว่า “สี่เดือน” (และก็แปลว่ามากกว่าชาวพุทธที่เข้ากันแค่ “สามเดือน” อยู่หนึ่งเดือนเลยทีเดียว) โดยเป็นธรรมเนียมของพวกนักบวช หรือสันยาสี โดยเฉพาะ ที่จะไม่จาริกแสวงบุญไปที่ไหนในระยะเวลาสี่เดือนดังกล่าวนั่นเอง

นั่นแสดงว่านักบวชในยุคโบราณไม่ว่าจะศาสนาพุทธ พราหมณ์-ฮินดู หรืออะไรก็แล้วแต่ในชมพูทวีป มักจะเป็นผู้จาริกไป ไม่พำนักที่ใดที่หนึ่งเป็นหลักแหล่ง แต่สุดท้ายวิถีชีวิตเช่นนี้ก็เปลี่ยนไป เพราะนักบวชในพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งได้มีการสร้างวิถีชีวิตของ “พระ” ใน “อาราม” ขึ้นมา จนทำให้พระภิกษุกลุ่มหนึ่งยกเลิกการธุดงค์ หรือจาริก

อาจารย์เชฟหมีอธิบายต่อไปว่า ต่อมา ศังกราจารย์ (เป็นชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อคน เข้าใจว่าอาจารย์ท่านน่าจะหมายถึง อาทิศังกราจารย์ คือท่านศังกราจารย์คนแรก ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง พ.ศ. 900-1100) นักบวชฮินดูจึงได้เอาอย่างศาสนาพุทธ คือมีการสร้าง มัฐ หรืออารามขึ้น จนเกิดเป็นวิธีของนักบวชในพระอารามเช่นกัน

แต่นักบวชในศาสนาฮินดูก็ยังคงนิยมจาริกกันอยู่นะครับ แม้แต่นักบวชในพระอารามเองก็เถอะ พ้นจตุรมาศเป็นไม่ได้ เป็นต้องขยับแข้งขยับขาออกจาริกกันเมื่อนั้น นักบวชบางคนฮาร์ดคอร์หน่อย ก็จาริกมันรวดเดียวเลยสิบสองปี ครบฟูลคอร์สของพวกพราหมณ์เขาเลยเถอะ

แต่ประโยชน์ของจตุรมาศ (และรวมถึงการเข้าพรรษา) ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการที่พระ หรือนักบวชจะไปเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในช่วงฤดูเพาะปลูก อย่างที่ในประเทศนี้ เมืองนี้ มัจะอธิบายกันอย่างนี้เท่านั้นนะครับ เพราะยังเป็นช่วงที่พระ หรือนักบวชจะได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ผลที่ตามมาก็คือความแม่นยำในพระปริยัติที่มากขึ้น พออกพรรษาก็พร้อมที่จะไปปฏิบัติอย่างเต็มที่

อาจารย์เชฟหมีท่านให้ความเห็นไว้อย่างคมคายว่า เข้าพรรษาและออกพรรษาที่จริงนั้นมีสัมพันธ์ระหว่างกันในรูปแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะในอินเดีย แต่ในไทยสมัยโบราณมาก็ด้วย

สรุปง่ายๆ ว่า เข้าพรรษานั้นมีในอินเดีย แต่ไม่ใช่พุทธศาสนาเป็นต้นคิดมาแต่เดิม เพราะเป็นประเพณีเดิมที่มีในหลายศาสนาจนหาต้นตอไม่ได้ ส่วนบวชนาคนั้นยิ่งแล้วใหญ่เพราะไม่มีในอินเดีย ในอินเดียเขามีแต่สึกนาค

ที่มา https://www.gqthailand.com/life/article/the-buddhist-lent-day