Tuesday, February 9, 2010

พระเขมาเถรี

พระเขมาเถรี หรือพระนางเขมา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ แห่งสาคละนคร ในมัททรัฐ ต่อมาได้อภิเษกสมรสเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ พระนางทรงมีพระสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพิมพิสารอย่างยิ่ง
ในตอนแรกพระนางเขมามิได้สนพระทัยในพระพุทธศาสนานัก ทั้งที่พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีของพระนางทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี คือ ได้ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา และได้ทรงถวายปัจจัยอุปถัมภ์ภิกษุสงฆ์ ณ พระวิหารเวฬุวันอยู่เป็นประจำ
ในเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระนางเขมาได้ทรงทราบว่ารพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องโทษเกี่ยวกับร่างกาย จึงทรงเกรงว่าถ้าพระนางเสด็จไปเฝ้า พระพุทธองค์อาจจะทรงชี้โทษเกี่ยงกับพระรูปโฉมของพระนางก็ได้ จึงไม่ยอมเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์เลย แม้แต่พระวิหารเวฬุวันซึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้าง พระนางก็มิได้เสด็จไปดู พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระดำริหาอุบายที่จะให้พระนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ให้ได้ ในที่สุดได้ทรงมีพระบัญชาให้กวีแต่งเพลงพรรณนาความงามเวฬุวันด้วยถ้อยคำอันไพเราะชวนคิด ชวนฝันของพระวิหารเวฬุวัน แล้วขับให้
พระนางเขมาฟัง พระนางทรงสดับเพลงนั้นแล้ว ทรงมีความรู้สึกประดุจไม่เคยทอดพระเนตรเวฬุวัน ทรงมีพระประสงค์จะโดยเสด็จไปยังพระราชอุทยานนั้น และทรงได้รับความยินยอมด้วยดี พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า พระนางเขมาเสด็จมาเฝ้า เพื่อที่จะให้พระนางคลายความยึดถือในความงาม จึงทรงบันดาลให้พระนางเห็นรูปสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งมีความงดงามยิ่งกว่าพระนาง จึงตะลึงในความงามของรูปสตรีนั้น โดยมิได้สน
พระทัยในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า พระนางเขมาทรงมีความยึดติดในรูปสตรีนั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงบันดาลให้พระนางทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ ให้มีวัยสูงอายุขึ้น ๆ จนแก่ชราและถึงแก่กรรม เหลือแต่กระดูกในที่สุด พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นความเป็นเช่นนั้น ทรงเห็นความไม่มีแก่นสารของรูปสตรีนั้น จึงทรงได้คิด คลายความยึดติดในความงาม เมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าว่า “เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาด เน่าเปื่อย ไหลเข้า ไหลออก ที่คนโง่ปรารถนากันนัก” เมื่อจบพระธรรมเทศนานี้ พระนางเขมาทรงเห็นแจ้งในความจริงจึงสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
พระพุทธเข้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อไปว่า“คนที่กำนัดด้วยราคะ ปล่อยใจไปตามกระแสตัณหา เป็นเหมือนแมงมุมติดใยตัวเอง ส่วนคนฉลาดตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาลัย ละทุกข์ทั้งปวงได้ เมื่อพระนางสดับพระธรรมเทศนานี้จบลง ก็ทรงบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ทั้งที่ยังไม่ได้อุปสมบท ตามปกติผู้บรรลุอรหัตผลทั้งยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ จะต้องอุปสมบท ครองเพศเป็นบรรพชิด มิฉะนั้นจะต้องปรินิพพานในไม่ช้า พระพุทธเจ้าทรงถามพระเจ้าพิมพิสารว่า มหาบพิตรต้องการให้พระนางเขมาอุปสมบทหรือปรินิพพาน พระเจ้าพิมพิสารทูลตอบว่า ให้นางอุปสมบทเถิด อย่าให้นางปรินิพพานในขณะนี้เลย พระพุทธเจ้าจึงประทานการอุปสมบทให้พระนางเขมาเป็นภิกษุณี เมื่ออุปสมบทแล้วพระนางเขมาเป็นผู้ฉลาด สามารถแตกฉานในพระธรรมวินัย เพราะเป็นผู้มีปัญญามาก พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้พระเขมาเถรีเป็นอัครสาวิกาเบื้องขวา เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีปัญญามาก และนางเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกาลต่อมา

No comments:

Post a Comment