ในอดีตกาล พระเจ้ากาลิงคราช ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครทันตปุระ แคว้นกาลิงครัฐ ทรงสมบูรณ์ด้วยรี้พลและพาหนะ เสด็จด้วยกองทัพใหญ่ ไปหยุดกองทัพไว้เฉพาะปลายพระราช อาณาเขต ด้านที่ติดกับ นครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ ซึ่งมีพระราชาพระนามว่า อัสสกะ
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษี อยู่ที่บรรณศาลาระหว่างอาณาเขตแห่งพระราชาทั้งสองนั้น พระเจ้ากาลิงคราชทรงพระดำริว่า “ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมจะรู้อะไรๆ ดี ใครจักมีชัยชนะหรือความปราชัยจักมีแก่ใคร เราจักถามพระดาบสดู”
จึงปลอมพระองค์เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กระทำปฏิสันถารแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคะ กับพระเจ้าอัสสกะประสงค์จะรบกัน พากันตั้งทัพยันอยู่เฉพาะใน รัฐสีมาของตนๆ ในพระราชาทั้งสองพระองค์นั้น ใครจักมีชัยชนะ ใครจักปราชัยพ่ายแพ้”
พระดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า “ท่านผู้มีบุญมาก อาตมาภาพไม่ทราบว่า พระองค์ใดจะชนะ-พ่ายแพ้ แต่ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาที่นี้ อาตมภาพถามท้าวสักกเทวราชนั้นแล้วจักบอกให้ทราบ พรุ่งนี้ท่านมาฟังเอาเถิด”
ครั้นเมื่อท้าวสักกะเสด็จมาสู่อาศรมของพระโพธิสัตว์แล้ว ประทับนั่ง พระโพธิสัตว์จึงทูลถามเนื้อความกะท้าวสักกเทวราช ท้าวเธอจึงตรัสทำนายว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคราชจักมีชัย พระเจ้าอัสสกะจักปราชัย และจะมีบุรพนิมิตเช่นนี้ ปรากฏ”
ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคราชเสด็จมาถาม พระโพธิสัตว์ก็ทูลความแก่พระเจ้ากาลิงคราชนั้น พระเจ้ากาลิงคราชไม่ตรัสถามเลยว่า บุรพนิมิตเช่นไรจักปรากฏ ทรงหลีกลาไปด้วยพระทัยยินดีว่า ท่านว่าเราจักชนะ เรื่องนั้นได้แพร่ไปแล้ว
พระเจ้าอัสสกะได้ทรงสดับเรื่องนั้นจึงรับสั่งให้เรียก อำมาตย์นันทเสนมา แล้วรับสั่งว่า “เขาว่าพระเจ้ากาลิงคราชจักชนะ เราจักพ่ายแพ้ เราควรจะทำอย่างไรกัน”
นันทเสน อำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาดนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ใครจะทราบข้อนั้นได้ ชัยชนะหรือความปราชัยจักเป็นของใคร ขอพระองค์อย่าทรงคิดไปเลย”
ครั้นกราบทูลเอาพระทัยพระราชาแล้ว ก็ได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ถามพระโพธิสัตว์ว่า “ท่านผู้เจริญ ใครจักชนะ ใครจักแพ้”
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “พระเจ้ากาลิงคะจักชนะ พระเจ้าอัสสกะจักแพ้”
อำมาตย์ นันทเสนถามว่า “ท่านผู้เจริญ บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้ชนะ บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้แพ้”
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “ท่านผู้มีบุญมาก อารักขเทวดาของผู้ชนะจักเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของผู้แพ้จักเป็นโคผู้ดำปลอด อารักขเทวดาแม้ของทั้งสองฝ่ายรบกันแล้ว ความมีชัยและปราชัยจักปรากฏ”
นันทเสนอำมาตย์ได้ฟังดังนั้น จึงลุกขึ้นลาไป หลังจากนั้นพาทหารใหญ่ประมาณพันคนผู้เป็นสหายของพระราชา ขึ้นไปยังภูเขาในที่ไม่ไกลนัก แล้วถามว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจักอาจเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของพวกเราได้หรือไม่”
ทหารใหญ่เหล่านั้นกล่าวว่า “พวกเราจักสามารถถวายได้”
นันทเสนอำมาตย์กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นพวกท่านจงโดดลงไปในเหวนี้”
ทหารใหญ่เหล่านั้นได้เตรียมจะโดดลงเหว นันทเสนอำมาตย์จึงห้ามทหารใหญ่เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า “อย่าโดดลงเหวนี้เลย ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีขวัญดี ไม่ถอยหลัง ช่วยกันรบเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของเรา ทั้งหลายเถิด” ทหารใหญ่เหล่านั้นรับคำแล้ว
ครั้นเมื่อสงครามประชิดกัน พระเจ้ากาลิงคราชทรงวางพระทัยว่า นัยว่าเราจักชนะ แม้หมู่พลนิกายของพระองค์ก็พากันวางใจว่า เขาว่าพวกเราจักมีชัยชนะ จึงไม่ทำการผูกสอดเครื่องรบให้มั่นคง ไม่รวมกันเป็นพรรคเป็นพวก พากันหลีกไปตามความชอบใจ ในเวลาที่ควรจะกระทำความเพียรพยายามก็ไม่ทำ
ฝ่ายพระราชาทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นทรงม้าเข้าไปหากันและ กันด้วยหมายมั่นว่า จักต่อยุทธ์ อารักขเทวดาของพระราชาทั้งสองออกไปข้างหน้า
อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะเป็นโคผู้ขาวปลอด
อารักขเทวดาของพระเจ้าอัสสกะเป็นโคผู้ดำปลอด
แสดงอาการต่อสู้เข้าไปหากันและกัน ปรากฏเฉพาะแก่พระราชาทั้งสองเท่านั้น ไม่ปรากฏแก่คนอื่น
อำมาตย์นันทเสนทูลถามพระเจ้า อัสสกะว่า “ข้าแต่มหาราช อารักขเทวดาปรากฏแก่พระองค์แล้วหรือยัง”
พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า “เออปรากฏ”
นันทเสนถามว่า “ปรากฏโดยอาการอย่างไร”
พระเจ้าอัสสกะ ตรัสว่า “อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะปรากฏ เป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของเราปรากฏเป็นโคผู้ดำปลอด”
นันทเสน อำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย พวกเราจักชนะ พระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พระองค์จงเสด็จลงจากหลังม้า ทรงถือพระแสงหอกนี้ เอาพระหัตถ์ซ้ายแตะด้านท้องม้าสินธพ แล้วรีบไปพร้อมกับบุรุษพันคนนี้ เอาหอกประหารอารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะให้ล้มลง ต่อแต่นั้น พวกข้าพระองค์ประมาณหนึ่งพัน จักประหารด้วยหอกพันเล่ม เมื่อทำอย่างนี้ อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะจักฉิบหาย จากนั้นพระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พวกเราจักชนะ”
พระราชาทรงรับว่า “ได้” แล้วเสด็จไปเอาหอกแทงตามสัญญาณที่นันทเสนอำมาตย์ถวายไว้ ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายก็แทงด้วยหอกพันเล่ม
อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะก็ถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นนั่นเอง
ทันใดนั้น พระเจ้ากาลิงคะก็ทรงพ่ายแพ้เสด็จหนีไป อำมาตย์ทั้งหลายพันคนเห็นพระเจ้ากาลิงคะเสด็จ หนีไปก็พากันโห่ร้องว่า “พระเจ้ากาลิงคราชหนี พระเจ้ากาลิงคะทรงกลัวต่อมรณภัยเสด็จหนีไป”
พระเจ้ากาลิงคราชนั้นก็เสด็จหนีไปยังพระนครของพระองค์ เมื่อล่วงไป ๒ - ๓ วัน ท้าวสักกะได้เสด็จมายังอาศรมของพระดาบส พระดาบสเมื่อจะทูลกับท้าวเธอ จึงกล่าวคาถาว่า ”ข้าแต่ ท้าวสักกะ เทวดาทั้งหลายยังประพฤติล่วงมุสาวาทอีกหรือ
พระองค์ควรกระทำถ้อยคำให้จริงแท้แน่นอนมิใช่ หรือ
ข้าแต่ท้าวมัฆวาฬผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือ จึงได้ตรัสมุสา”
ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้นจึงตรัสคาถาว่า :
”ก่อนพราหมณ์ เมื่อชนทั้งหลายพูดกันอยู่ ท่านก็เคยได้ยินแล้วมิใช่หรือว่า
เทวดาทั้งหลายย่อมเกียดกันความพยายาม ของลูกผู้ชายไม่ได้
ความ ข่มใจ ความตั้งใจแน่วแน่ ความไม่แตกสามัคคีกัน ความไม่แก่งแย่งกัน การรุกในกาลควรรุก ความเพียรมั่นคง และความบากบั่นของลูกผู้ชาย (มีอยู่ในพวกพระเจ้าอัสสกะ) เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะจึงมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ”
ที่มา: จุลลกาลิงคชาดก
เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้
หลวงปู่ดู่เคยสอนว่า
"อย่ายินดี-ยินร้าย และอย่าน้อมใจเชื่อนิมิตที่เกิดขึ้น"
ท่านสอนให้เชื่อหรือปฏิเสธก็ต่อเมื่อ ความจริง ปรากฏขึ้นแล้วเท่านั้น
No comments:
Post a Comment