Wednesday, September 1, 2010

อุโบสถศีล

ดังว่า ศีล ๕ เป็นศีลของคฤหัสถ์ ที่คฤหัสถ์ทั้งชายหญิงควรรักษาเป็นปกติ เป็นประจำตลอดชีวิต
ศีลที่ยิ่งกว่า ศีล ๕ ขัดเกลากิเลสได้ยิ่งกว่าศีล ๕ ที่คฤหัสถ์ควรรักษาตามโอกาส เป็นครั้งคราว ก็มีอยู่
ศีลที่กล่าวนี้คือ อุโบสถศีล หรือศีลอุโบสถ ซึ่งคฤหัสถ์ชายหญิงบางท่านรักษาในวันอุโบสถ
คือ ในวันพระคือในวันแรม ๘ ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำและขึ้น ๑๕ ค่ำ

อานิสงส์ของอุโบสถศีล
==================
"อย่างต่ำทำให้เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น
อย่างกลางทำให้เกิดเป็นพรหม
อย่างสูงทำให้ไม่เกิดอีกเลย"


ส่วนผลที่ได้รับจะสูงต่ำเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง
รวมทั้งปัญญาบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ปางก่อนด้วย

องค์ของอุโบสถศีล
================
อุโบสถศีลมีองค์ประกอบ ๘ ข้อดังนี้
องค์ที่ ๑-๒-๔-๕ เหมือนศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ ของศีล ๕
ส่วนข้อ ๓ เปลี่ยนเป็น อพรหมจริยา เวรมณี
คือ ให้งดเว้นจากการเสพประเวณีโดยเด็ดขาด แม้ในคู่ครองของตนเอง
(จึงจะชื่อว่า พรหมจริยา คือ ประพฤติอย่างพรหม)

ส่วนที่เพิ่มเข้ามาอีก 3 ข้อคือ
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี
งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (เฉพาะอาหาร ไม่รวมยารักษาโรค)
เวลาตั้งแต่อรุณขึ้นไปจนถึงเที่ยง เรียกว่า กาล คือเป็นเวลาบริโภคอาหาร
ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น (ของวันใหม่) เรียกว่า วิกาล
เป็นเวลาที่ต้องเว้นจากการบริโภคอาหารทุกชนิด
เว้นน้ำธรรมดา และน้ำผลไม้ทุกชนิด
เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิด
เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง
และทรงอนุญาตน้ำอ้อยสด

๗. นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนมาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี
งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล
ลูบทาทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

๘. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี
งดเว้นจากการนั่ง และการนอนบนที่นอนสูงใหญ่

ศีลอุโบสถนั้นเป็น ศีลรวม หรือ ศีลพวง คือมีองค์ประกอบถึง ๘ องค์
ถ้าขาดไปองค์ใดองค์หนึ่งก็ไม่เรียกว่า ศีลอุโบสถ
(ล่วงศีลอุโบสถเพียงข้อใดข้อเดียว ก็ถือว่าขาดหมดทั้ง ๘ ข้อ)


บางท่าน รักษาอุโบสถกันครั้งละ ๓ วัน
(คือถือเอาวันที่กำหนดไว้ในปกติอุโบสถเป็นหลัก
แล้วเพิ่มรักษาก่อนกำหนด ๑ วัน เรียกว่า วันรับ
และหลังวันกำหนดอีก ๑ วัน เรียกว่า วันส่ง)
,รักษากันเป็นประจำทุกวันตลอดพรรษา ๓ เดือน
,หรือ ช่วงกฐิน (๑ เดือน หลังจากออกพรรษา) เป็นต้น

สมาทานศีล (ขอศีล)
============
การรักษาศีลไม่ต้องไปสมาทานกับพระเท่านั้น
จะสมาทานที่ไหนก็ได้
หากมีเจตนาคิดงดเว้นก็เป็นศีลแล้ว
หรือจะคิดงดเว้นเองโดยมิต้องสมาทานก็เป็นศีล
อุโบสถศีล ควรตั้งเจตนาในการรักษาไว้แต่รุ่งเช้า

ศีล ๘
======
สำหรับศีลของคฤหัสถ์อีกอย่างหนึ่ง คือ ศีล ๘ ก็มี ๘ ข้อเหมือนอุโบสถศีล
เพียงแต่ไม่กำหนดวันรักษาเหมือนอุโบสถศีล จะรักษาวันใด เมื่อไรก็ได้
เป็นการสะดวกสบายสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะรักษาอุโบสถศีลในวันพระ
ก็สามารถรักษาศีล ๘ ในวันอื่นเป็นการทดแทนได้
บางท่านก็มีศรัทธารักษาศีล ๘ จนตลอดชีวิต

คัดย่อจาก http://84000.org/tipitaka/book/bookpn02.html

No comments:

Post a Comment