เรียกว่าพระใบลานเปล่า
อับเฉาไร้เงามรรคผล
เก่งแต่เทศน์สั่งสอนคน
อับจนฝึกตนให้ดี
พระโปฐิลเถระ
ภิกษุโปฐิละ เมื่อได้บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้เป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้ในธรรมดียิ่ง สามารถเทศน์ สอนธรรมแก่ภิกษุ จำนวนมาก จึงได้ลาภสักการะมากมาย ทำให้ความอวดดีถือตัว (มานะ) เกิดขึ้น ทั้งๆที่ ตั้งแต่บวชมา ยังมิได้ปฏิบัติธรรมให้เกิดมรรคผลใดๆแก่ตนเลย
มีอยู่คราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระศาสดา ได้กล่าวตำหนิ ถึงภิกษุ โปฐิละเอาไว้ว่า
"ภิกษุโปฐิละนี้รู้ธรรม แต่ไม่เข้าถึงธรรม เพราะเป็นผู้ถูกอวิชชา(ความรู้ที่ไม่พาพ้นทุกข์)หุ้มห่อไว้แล้ว เดินไปสู่ ทางผิด ซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน หมกมุ่นอยู่ในความคิดปรุงแต่ง ที่ติดอยู่ในลาภและสักการะ เสมือนดัง ตัวหนอน ที่ติดอยู่ในคูถ (อุจจาระ) จึงเป็นผู้ไม่มีแก่นสาร"
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงดำริเช่นกันว่า
"ภิกษุนี้เอาแต่เรียนรู้ธรรม แต่ไม่มีความคิดเลยว่า จะทำการสลัดกิเลสทุกข์ออกจากตน เห็นทีเราจะต้องทำ ให้ภิกษุนี้ บังเกิดความสังเวช แล้วปฏิบัติธรรม"
ดังนั้นเป็นต้นมา....พระศาสดาจึงมักตรัสเรียกภิกษุโปฐิละ ด้วยเจตนาเตือนสติว่า
"มาเถิด ท่านใบลานเปล่า"
"นั่งเถิด ท่านใบลานเปล่า"
"ไปเถิด ท่านใบลานเปล่า"
เมื่อถูกเรียกชื่ออย่างนี้หลายครั้งจากพระศาสดา ทำให้ภิกษุโปฐิละอดคิดไม่ได้ว่า
"เราเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งคำสอนในพระพุทธศาสนา บอกสอนธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ก็แล้วพระศาสดา ยังตรัสเรียกเรา เนืองๆว่า ใบลานเปล่า เช่นนี้ย่อมหมายถึงความไม่มีมรรคผลของเราเป็นแน่แท้"
จึงบังเกิดความสลดใจยิ่งนัก ได้สำนึกที่จะฝึกฝนตน ตั้งจิตขึ้นมาว่า"บัดนี้แหละ เราจะหาที่สงัด กระทำสมณธรรม (ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส)"
แล้วออกแสวงหา เดินทางไปได้ไกลระยะหนึ่ง พบอาวาสในราวป่าแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปหาภิกษุที่เป็น พระสังฆเถระ (พระผู้ใหญ่สุดในหมู่สงฆ์นั้น) ทำการไหว้แล้วกล่าวขึ้นว่า
"ท่านผู้เจริญ ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งของผมด้วย"
พระสังฆเถระนั้น รู้ถึงชื่อเสียงของภิกษุโปฐิละมาก่อน จึงได้เอ่ยปากออกไปว่า
"ท่านเป็นถึงพระธรรมกถึก (พระนักเทศน์) ธรรมต่างๆที่พวกเราจะรู้ได้ ก็เพราะอาศัยท่านต่างหากเล่า ไฉนท่าน จึงขอเช่นนี้"
ภิกษุโปฐิละยังคงกล่าวยืนยันอย่างเดิมว่า
"ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมเถิด"
พระสังฆเถระก็มิได้รับปาก ด้วยความคิดที่ว่า
"ภิกษุนี้ยังมีมานะ(ความถือตัว)อยู่มาก เพราะความที่เรียนธรรมมาก รู้ธรรมมาก"
ฉะนั้นจึงส่งภิกษุโปฐิละไปหาพระเถระรูปอื่นแทน เพื่อหมายให้ลดมานะนั้น แม้พระเถระอื่น ก็คิดอย่าง พระสังฆเถระ เช่นกัน ภิกษุโปฐิละจึงถูกส่งตัวไปหาพระเถระทั้งหมดในที่นั้นเป็นลำดับ จนกระทั่ง ถึงพระเถระ รูปสุดท้าย แม้พระเถระนี้ก็ปรารถนาลดมานะของภิกษุโปฐิละให้จงได้ จึงส่งตัวไปให้ สามเณร เพิ่งบวชใหม่สุด ซึ่งมีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น เป็นผู้อบรมสอนธรรมให้
ภิกษุโปฐิละ ต้องประนมมือ แสดงความเคารพ เข้าไปหาสามเณรที่กำลังเย็บผ้าอยู่ในที่พัก แล้วกล่าวว่า
"ท่านสัตบุรุษ(คนที่มีสัมมาทิฏฐิ) ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม"
สามเณรถึงกับสะดุ้งตกใจ รีบพูดว่า
"ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรกัน ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นพหูสูต (ผู้มีความรู้มาก) กระผมต่างหากเล่า ที่จะต้อง พึ่งท่าน"
"ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าปฏิเสธเลย ท่านเป็นความหวังสุดท้ายแล้ว ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมด้วยเถิด"
สุดที่จะหลีกเลี่ยงได้ สามเณรจึงขอคำรับรองเพื่อความมั่นใจเอาไว้ก่อน
"ท่านอาจารย์ หากท่านยินยอมอดทนอยู่ในคำสั่งสอนของกระผมได้ กระผมก็จะยอม เป็นที่พึ่งของท่าน เช่นกัน"
"ผมทำได้แน่ แม้ท่านสัตบุรุษจะบอกให้ผมเข้าไปสู่กองไฟ ผมก็จะเข้าไปสู่กองไฟทันที"
สามเณรได้ฟังเช่นนั้นแล้ว มองไปที่รอบบริเวณ แลเห็นสระน้ำแห่งหนึ่ง พอหันกลับมาดู ภิกษุโปฐิละ ที่ครองจีวร ชั้นดี มีราคามาก จึงต้องการทดสอบใจของภิกษุโปฐิละ ว่ายินยอมลดมานะแล้ว จริงหรือไม่ โดยสั่ง ออกไปว่า
"ท่านอาจารย์ ท่านจงลงไปในสระนี้ ทั้งที่นุ่งห่มครองจีวรอยู่อย่างนี้แหละ"
มิได้ชักช้าเลย ภิกษุโปฐิละได้ฟังคำสั่งเพียงแค่ครั้งเดียว ก็ก้าวเท้าลงสู่สระน้ำทันที พอลงไปได้ลึก ถึงเอว จีวรเปียกน้ำ ไปมากแล้ว เท่านี้ก็เป็นที่พอใจของสามเณร จึงตะโกนไปว่า
"จงกลับขึ้นมาเถิด ท่านอาจารย์"
เมื่อภิกษุโปฐิละขึ้นจากน้ำแล้ว สามเณรได้พาไปดูที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรูเป็นช่องอยู่ ๖ ช่อง แล้วสอนธรรม แก่ภิกษุโปฐิละว่า
"ช่องเหล่านี้ของจอมปลวก ตัวเหี้ยอาศัยเข้าไปอยู่ภายใน หากต้องการจับตัวเหี้ยนี้ จะต้องอุดไว้ ๕ ช่อง แล้วเฝ้าคอยดูช่องที่ ๖ จึงจะจับตัวเหี้ยที่เข้าออกช่องนั้นได้ ดุจเดียวกับทวารทั้ง ๖ (ตา,หู,จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) นั้น แม้ท่านก็จงสำรวมทวารทั้ง ๕ ไว้ แล้วคอยดูแลรักษามโนทวาร(จิตใจ) ก็จะจับกิเลส ที่เข้าออกในใจได้"
ด้วยธรรมะเพียงเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทันที ราวกับดวงไฟใหญ่ลุกโพลง ขึ้นสว่างไสว ภิกษุโปฐิละ ถึงกับโพล่งออกไปว่า
"พอล่ะ! ท่านสัตบุรุษ เพียงคำสอนเท่านี้แหละ ได้ทำให้ผมแจ่มแจ้งแล้ว"
ขณะเดียวกันนั้นเอง....แม้พระศาสดาประทับอยู่ในที่ไกลโพ้น ก็ยังสามารถหยั่งรู้วาระจิตของภิกษุโปฐิละได้ จึงทรงเปล่งอุทาน ออกมาว่า
"ปัญญาดุจแผ่นดิน(คือปัญญาที่ย่ำยีราคะ-โทสะ-โมหะได้แล้ว) ย่อมเกิดขึ้น เพราะการไม่ทำอกุศล ด้วยกาย การตามรักษา วาจา และการสำรวมดีแล้วด้วยใจ
แต่ปัญญาดุจแผ่นดินย่อมสิ้นไป เพราะการทำอกุศลด้วยกาย การไม่ตามรักษาวาจา และการไม่สำรวม ให้ดีด้วยใจ
บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่งแห่งความเจริญและความเสื่อมนี้แล้ว จึงตั้งตนไว้ ในทางที่ปัญญา ดุจแผ่นดิน จะเจริญขึ้นได้"
พอสิ้นสุดคำอุทานของพระศาสดา พระโปฐิลเถระก็ได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลแล้ว
-
ณวมพุทธ -
อาทิตย์ ๖ ก.ค. ๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๐๐, อรรถกถาแปลเล่ม ๔๓ หน้า ๑๑๘)
อาทิตย์ ๖ ก.ค. ๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๐๐, อรรถกถาแปลเล่ม ๔๓ หน้า ๑๑๘)
สารอโศก
อันดับ ๒๖๑ มิถุนายน ๒๕๔๖
No comments:
Post a Comment