Friday, October 23, 2009

Anapanasati_3

สำหรับการฝึกที่ใช้ลมหายใจเป็นหลัก
(หรือ อารมณ์)
ในที่นี้มีแนวย่อๆ คือ

ขั้นแรกที่สุด การที่สติกำหนดลงตรงลมหายใจ
ดุจว่าบุคคลจดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าที่สิ่งอื่นอีกสิ่งหนึ่ง
เราเรียกว่า ”วิตก”

ภาวะที่เรียกว่า วิตก ในที่นี้
มิได้หมายถึงความตริตรึก
หรือ คิดแส่อย่างหนึ่งอย่างใด
แต่ หมายถึง อาการที่สติกำหนดแน่วแน่เฉยๆ
อยู่ในอารมณ์ที่ไม่มีความหมาย
(หรือ ไม่ทำความหมายในการพิจารณาหาเหตุผล)
อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเท่านั้น

ส่วน การที่ จิตต้องเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์กล่าวคือ ลมหายใจ
ด้วยอำนาจสัมปชัญญะอยู่ไปมานั้น เรียกว่า “วิจาร”

ภาวะที่เรียกว่า วิจารณ์ ในที่นี้
มิได้หมายถึงการพิจารณาหาเหตุผล
หรือ หมายถึงการใช้ปัญญาพิจารณาแต่อย่างใด
หมายเพียง ลักษณะที่จิตเคล้าอยู่กับอารมณ์อย่างทั่วถึงไม่ออกห่าง.

เมื่อเปรียบกับการผูกลิงแล้ว
วิตกได้แก่การที่มันถูกผูกติดอยู่กับหลักโดยเฉพาะ.
ส่วน วิจาร หมายถึง การที่มันเต้นอยู่รอบๆหลัก
จะ ไปๆ มาๆ ขึ้นๆ ลงๆ อย่างไร
ก็เคล้ากันอยู่กับหลักนั่นเอง.

ในขณะที่ยังเป็นเพียงวิตก วิจาร ล้วนๆนี้
เราเรียกว่าขณะแห่งบริกรรม หรือ การบริกรรม.

เมื่อการบริกรรมเป็นไปด้วยดี
และ ถ้ากฎธรรมชาติแห่งจิต
ได้ทำให้เกิดผลตามที่ควรอย่างไรสืบไปแล้ว
ก็จะเกิดความรู้สึกว่าจิตยอมอยู่ในอำนาจ
และ เกิด ความซาบซ่านหรืออิ่มใจชนิดหนึ่ง
ซึ่งเรียกว่า “ปิติ”
เป็นความอิ่มใจที่เกิดซาบซ่าน.

ในขณะที่เริ่มรู้สึกว่า ร่างกายได้เบาสบายไปทั่วตัว
ไม่รู้สึกติดขัด หรือ อึดอัด
ความร้อนในร่างกายได้สงบลง
จนรู้สึกราวกับว่า มันไม่มีอยู่เลย
ลมหายใจค่อยๆละเอียดยิ่งขึ้น
จนคล้ายกับไม่มีการหายใจ
ความตื่นเต้นของประสาทไม่มีแม้แต่น้อย
คงอยู่แต่ความเบาสบาย อันเรียกว่า ปิติ

ซึ่งในภาษาแห่งธรรมย่อมหมายถึง
ความเย็นใจ อันซาบซ่านอยู่ภายในเท่านั้น
ไม่หมายถึงความฟุ้งซ่าน หรือเต้นแร้งเต้นกา.

และ พร้อมๆกันกับปิตินี้ ก็มีความรู้สึกที่เป็นสุข
หรือ ความปลอดโปร่งใจ รวมอยู่อย่างแนบแน่นด้วย
โดยไม่ต้องมีเจตนา และ เรียกความรู้สึกอันนี้ว่า “สุข”.

ต่อจากนี้ ก็มีหน้าที่ ที่จะควบคุมความรู้สึกอันนี้
ให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอด้วยดี
เพราะเหตุว่า ลิงได้หยุดเต้นแล้ว
เชือกหรือสติไม่ถูกกระชากอีกต่อไปแล้ว.

เพียงแต่รักษาภาวะอันนี้ให้คงที่อยู่
ในลักษณะเดียวกันนี้
ซึ่งแท้ที่จริงก็ได้เริ่มมีความกลมเกลียวกันมาตั้งแต่แรกแล้ว
ให้เป็นลักษณะที่เด่นชัดยิ่งขึ้น
จนปรากฏว่าจิตได้อยู่ในอารมณ์เดียว
เสมอต้นเสมอปลายแล้วจริงๆ ยิ่งขึ้นกว่าตอนต้นๆ.
ก็เป็นอันว่า สมาธินั้นได้ลุถึงผลสำเร็จของมันแล้ว
อย่างเต็มเปี่ยมชั้นหนึ่ง
และ เรียกความมั่นคงเป็นอันเดียวนี้ว่า “เอกัคคตา”
และ พึงทราบว่า
ในขณะนี้ วิตก วิจาร ปิติ สุข และ เอกัคคตา
ได้กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
พร้อมกันอยู่ตลอดเวลาที่มั่นในสมาธิ
ไม่มีสิ่งอื่นแทรกแซง
จนกระทั่งถึงเวลาที่ผู้นั้นออกจากสมาธิ.



การฝึกขั้นต่อไป ก็มีการฝึกให้เข้าสมาธิได้เร็ว
อยู่ได้นานตลอดเวลาที่ต้องการ
ตื่นหรืออกจากสมาธิได้ตรงตามเวลาที่ต้องการ
คือ มีความชำนาญคล่องแคล่ว
จนกลายเป็นของชินหรือเคยตัว
จนกระทั่งเวลาธรรมดาทั่วไป
ก็รู้สึกว่าจิตยังได้อาบรดอยู่
ด้วยปิติและสุขในภายในอยู่เสมอ
ทุกๆอิริยาบถ
ไม่ว่าจะไป หรือ อยู่ในสถานที่ไหน
เหมือนกับคนที่มีลาภใหญ่หลวง
มีความดีอกดีใจซาบซ่านอยู่ในที่ทุกแห่ง
ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ฉันใดก็ฉันนั้น.

เมื่อลุถึงขั้นนี้
สิ่งที่เรียกว่า การฝึกจิต
ก็กล่าวได้ว่า ลุถึงผลอันสมบูรณ์ขั้นหนึ่งแล้ว
และเรียกว่า ขั้นปฐมฌาน
ความเพ่งจิตอันเป็นบทเรียนขั้นต้นได้ลุถึงแล้ว .

แม้เพียงเท่านี้
ก็สามารถใช้เป็นปทัสถาน
สำหรับพิจารณาในด้านปัญญา
หรือวิปัสสนาได้สืบไป
หากจะไม่พยายามในขั้นทุติยณาน
ตติยญาน หรือ จตุตถณาน
ก็ยังสามารถลุถึงโลกุตตรสุขได้ในวันหนึ่ง.

เพียงเท่านี้ เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยหรือไม่
หากใช้ความกล้าหาญของความเป็นมนุษย์
ไปให้ถูกต้องแล้ว
ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินไป
อยู่ในวิสัยของคนธรรมดาทุกๆคน
เพราะเหตุว่าที่จริงขั้นปฐมณานนี้
ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ละเอียดเท่าใดนัก
ยังเป็นขั้นที่หยาบอยู่
โดยเหตุที่ผู้มีอินทรีย์หรือกำลังใจอันสูง
ย่อมสามารถลุถึงขั้นจตุตถณาน
หรือฝึกให้สูงขึ้นไปจนถึงพวกอรูปณานก็ได้
ซึ่งเป็นขั้นที่นับว่าสูงสุด ในด้านการฝึกจิต

ส่วนในด้านการฝึกทางปัญญานั้น
การฝึกจิตในขั้นสูงถึงปานนั้น เป็นของไม่จำเป็น
เพราะว่าการเข้าถึงพุทธธรรม
อาศัยการฝึกในด้านปัญญามากกว่า
ในเมื่อกล่าวสำหรับคนทั่วๆไป
ความข้อนี้ปรากฎชัดอยู่ในพระอรหันตประวัติทั่วๆไปแล้วว่า
การฝึกจิตเพียงขั้นปฐมณาน
ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้
และบางท่านไม่เคยฝึกจิตจนถึงขั้นณานเลยก็มี.

ที่มา: ปาฐกถาชุด พุทธธรรม - วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment