วิธีการแห่งการฝึก
ในการที่จะปราบลิง
ผู้ฝึกจะต้องปักหลักมั่นคงไว้ใจได้
แล้วใช้เชือกผูกลิงให้ติดอยู่กับหลักนั้น
ส่วนการฝึกลิง กล่าวคือ จิต
ก็จะต้องมีหลักเช่นเดียวกัน
ตามที่เราทราบกันทั่วไป
และที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ
ก็คืออานาปานสติกรรมฐาน
เป็นกรรมฐานที่แพร่หลายมาก
ในกรรมฐานนี้
เราได้ลมหายใจเข้า ออก เป็นหลักปัก
และเป็นกรรมฐานที่สะดวกสบาย
สามารถฝึกที่ไหนก็ได้
เพราะตามธรรมชาติ
เราก็หายใจเป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว
แนวแห่งลมหายใจที่แล่นเข้า
แล่นออกอยู่อย่างไรนั้น
เป็น"หลักผูกลิง"
เราผูกลิงคือจิต
ด้วยเชือกกล่าวคือ สติ
เราเฆี่ยนลิงด้วยไม้คือ สัมปชัญญะ
สติเป็นเครื่องกำหนดลมหายใจ
ยังไม่เผลอไปเสียเพียงใด
เชือกผูกลิงก็ยังไม่ขาดอยู่เพียงนั้น
ลิงก็ไม่อาจหลุดไปจากหลัก
วิ่งกลับเข้าป่า กล่าวคือโลกิยารมณืได้
เป็นธรรมดาอยู่เองอีกประการหนึ่ง
ควรทราบว่า สัตว์ป่าที่แรกจับมาจากป่า
เช่น ช้างเป็นต้น
เมื่อจับมาฝึกใหม่ๆ
ย่อมดิ้นรนเหลือประมาณ
ตามที่เราเคยเห็นกันอยู่
มันดิ้นจนเชือกบาดเท้า บาดคอ
ฝังลึกเข้าไปในเนื้อ
หรือถึงกระดูกก็ยังดิ้น
เมื่อมันอยู่ในป่าธรมดา
มันไม่ดิ้น ไม่มีลักษณะที่น่าตกใจ
เหมือนเมื่อมันถูกฝึก
และเมื่อฝึกได้ดีเรียบร้อยแล้ว
มันก็หยุดดิ้นและเป็นช้างที่สุภาพ
พร้อมที่จะทำประโยชน์ตอบแทนเจ้าของ
จิตนี้ก็ฉันนั้น
เมื่อมันคลุกกันอยู่กับอารมณ์ในโลก
ก็ดูไม่ร้ายกาจอันใดนัก
แต่ครั้นถูกจับมามัดกับหลักสำหรับฝึก
มันก็จะดิ้นในสภาวะที่น่ากลัว
และแปลกประหลาด
ทั้งเป็นการดิ้นชนิดที่สามารถทำลายความตั้งใจ
และความพากเพียรของบุคคลนั้นให้สูญสลายไป
โดยให้เกิดความคิดว่าเราไม่มีอุปนิสัย
ที่จะฝึกสมาธิเสียแล้ว เป็นต้น
อำนาจความดิ้นรนของจิต
เมื่อถูกผูกถูกเฆี่ยน
ย่อมประจักษ์เป็นภาวะ
ที่ชวนให้เกิดความกลัว
และอ่อนใจหรือกวัดแกว่ง
ซึ่งถ้าเชือกคือสติไม่เหนียวแน่นพอ
ก็อาจที่จะล้มเลิกหรือทำลายลงในขณะนั้นได้
เพราะฉะนั้นจึงจำต้องใช้เชือกหรือสติตั้งไว้ให้มั่น
ไม่หวั่นไหวไปตามอาการที่ปรากฏขึ้น
ทั้งในทางที่ยั่วให้รู้สึกตื่นเต้น
หรือในทางที่น่าตกใจกลัวก็ตาม
พึงกำหนดไว้แต่แรก
และเห็นเป็นสิ่งธรรมดา
ว่าเป็นดุจอาการของช้าง
ที่เพิ่งถูกจับมาฝึก
ฉันใดก็ฉันนั้น
ช้างที่อยู่ตามสัญชาติของมันในป่าเรียบร้อย
ไม่ตึงตังเหมือนช้างที่ถูกฝึกก็จริง
แต่ยังเป็นช้างที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
เราจึงลงทุนทำช้างป่าให้เป็นช้างบ้าน
โดยซื้อเอาด้วยการทนความเอะอะ
ตึงตังของมันชั่วขณะหนึ่ง
ต่อจากนั้นก็จะสบาย
ด้วยว่าจิตที่รับการฝึกฝนดีแล้ว
ย่อมมีสภาวะตรงกันข้าม
คือจะอยู่ในอำนาจและนำมา
แต่ความสงบเย็นอย่างเดียว
เป็นจิตที่ไม่กลับกลอก บริสุทธิ์
ขาวผ่อง นิ่มนวล อ่อนโยน
ควรแก่การงานฝ่ายจิต
เหมือนลิงที่พร้อมแล้ว
เพื่อจะเต้นรำทำเพลงต่อไป
ในขั้นที่ฝึกให้อยู่ในอำนาจได้นี้
เรียกตามภาษาธรรมะว่า
สมาธิ หรือสมถะกรรมฐาน
ได้ผลในขั้นนี้ คือความสงบ
ความน่าดู ความเชื่อฟัง
และความคล่องแคล่ว
ต่อการฝึกในขั้นต่อไป
ขั้นต่อไปจากนี้ ก็คือการน้อมจิต
ที่ฝึกไว้เป็นอย่างดีแล้วนั้น
ไปสู่การพินิจพิจารณาธรรมทั้งปวง
เพื่อเกิดปัญญาชั้นวิเศษรู้แจ้งแทงตลอด
โดยประการที่มันจะไม่จับฉวย
หรือยึดมั่นสิ่งใด
อันจัดเป็นขั้นปัญญาหรือวิปัสสนากรรมฐาน
จนกว่าจะสำเร็จเป็นมรรคผล
ลุถึงความสุขชนิดที่เป็นโลกุตตระ
ไม่กลับคืนมาสู่ความต่ำ
หรือความพร่องอีกต่อไปอนันตกาล
ที่มา: ปาฐกถาชุด พุทธธรรม - วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment