Monday, March 15, 2010

Aphithum

พระอภิธรรมคืออะไร ?


พระอภิธรรม คือ คำสอนหมวดหนึ่งใน "พระไตรปิฎก" ซึ่งพระไตรปิฎกแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ :-

หมวด ที่ 1 พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พระวินัย" เป็นหมวดที่กล่าวถึง วินัยสำหรับพระภิกษุ เพื่อให้ปฎิบัติตนอยู่ในกรอบแห่งความถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ มีทั้งหมด 21,000 พระธรรมขันธ์

หมวด ที่ 2 พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พระสูตร" เป็นหมวดที่กล่าวถึงเรื่องเล่า ตลอดจนชาดกต่างๆ และพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงไว้หลายนัย เพื่อให้เหมาะแก่จริตของผู้ฟังและเหมาะกับโอกาสต่างๆ มีทั้งหมด 21,000 พระธรรมขันธ์

หมวดที่ 3 พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า " พระอภิธรรม " เป็นหมวดที่กล่าวถึงธรรมชาติการทำงานของกายและใจ กล่าวถึงเรื่องชีวิตว่าคืออะไรและมาจากไหน ชีวิตมีองค์ประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง เรื่องจิต (วิญญาณ) เรื่องเจตสิก เรื่องอำนาจจิต เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ กลไกการทำงานของกิเลส การข่มกิเลส การทำลายกิเลส การทำสมาธิ การปฏิบัติวิปัสสนา เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติตามแล้ว จะทำให้เกิดปัญญาสามารถละกิเลสนำตนให้พ้นทุกข์ได้ เป็นคำสอนที่มีความสุขุมลุ่มลึกที่สุด มีทั้งหมด 42,000 พระธรรมขันธ์

* สรุป แล้ว พระอภิธรรมก็คือธรรมะหมวดที่ 3 ในพระไตรปิฎก ที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ในตัวเรา และสัตว์ทั้งหลาย อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ธรรมชาติทั้งสี่ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี้ รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม

* หาก แปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันยิ่ง ธรรมที่มีอยู่แท้จริงโดยปราศจากสมมุติ เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึง ปรมัตถธรรม อันเป็นธรรมชาติที่เป็นจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่แปรผันเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง


ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาพระอภิธรรม


* จะทราบว่า หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง ในพระพุทธศาสนาคืออะไร และหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน

* จะเข้าใจธรรมชาติของร่างกายและจิตใจ ที่รวมกันเป็นชีวิตหรือขันธ์ 5 อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาน ว่าแท้จริงแล้ว เป็นแค่เพียงสถาวะที่ปรากฏเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย ที่ปรุงเเต่งขึ้นมาเท่านั้น มิใช่สัตว์ มิใช่เป็นบุคคล มิใช่เป็นเรา มิใช่เป็นเขา ตามที่หลงผิดกัน

* จะมีความเข้าใจ เรื่องของบัญญัติธรรม และปรมัตถธรรมอย่างชัดเจน

* จะตัดสินได้ด้วยตนเอง ว่าอะไรเป็น ''บุญ'' อะไรเป็น ''บาป''

* จะมีความเข้าใจในเรื่อง ของการทำบุญมากขึ้น รู้ว่าจะต้องทำบุญอย่างไรจึงจะได้รับอานิสงส์สูงสุด

* จะทราบว่าบุญบาปที่ทำไปแล้ว กลับมาส่งผลได้อย่างไร ทำไมเราจึงเกิดมาแตกต่างกัน

* จะทราบว่าตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ อยู่ที่ไหน

* จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม (วิบาก) เป็นอย่างดี

* จะเข้าใจเรื่องการทำสมาธิและ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้อง

* จะเข้าใจเรื่อง มรรค ผล นิพพาน อย่างถ่องแท้

* จะได้รับความรู้ในสาระอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์ ในการดำเนินชีวิตมากมาย ฯลฯ


ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาพระอภิธรรมมีอยู่มากมายหลายประการ
แต่ที่สำคัญมี โดยสังเขปดังนี้

๑. การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะพระอภิธรรมเกิดจากพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ การเข้าถึงพระอภิธรรมจึงเท่ากับเข้าถึงพระปัญญาคุณของ พระพุทธองค์อย่างแท้จริง

๒. การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือศึกษาธรรมชาติการทำงานของกายและใจซึ่งเป็นธรรมชาติ ที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่องจิต (วิญญาณ), เรื่องเจตสิก, เรื่องอำนาจจิต, เรื่องวิถีจิต, เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม, เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด, เรื่องสัตว์ใน ภพภูมิต่างๆ และเรื่องกลไกการทำงานของกิเลส ทำให้รู้ว่าชีวิตของเราในชาติปัจจุบันนี้มาจากไหนและ มาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุมีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อได้คำตอบชัดเจนดีแล้วก็จะรู้ว่าตายแล้วไปไหนและ ไปได้อย่างไร อะไรเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างชาตินี้กับชาติหน้า ทำให้หมดความสงสัยแล้วเกิดอีกหรือไม่ นรก สวรรค์ มีจริงไหม ทำให้มีความเข้าใจเรื่องกรรม และการส่งผลของกรรม (วิบาก) อย่างละเอียด ลึกซึ้ง

๓. ผู้ศึกษา พระอภิธรรมจะเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม หรือสภาวธรรมอันจริงแท้ตาม ธรรมชาติ ในพระอภิธรรมจะแยกสภาวะออกให้เห็นว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอะไร ทั้งนั้น คงมีแต่สภาวธรรมคือ จิต เจตสิก รูป ที่วนเวียนอยู่ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นใหม่แล้วก็ดับไปอีก มีสภาพเกิดดับอยู่เช่นนี้ โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น แม้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาธรรมทั้ง ๓ นี้ก็ทำงานอยู่เช่นนี้โดยไม่มีเวลาหยุด พักเลย สภาวธรรมหรือธรรมชาติเหล่านี้มิใช่เกิดขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า พระพรหมพระอินทร์ หรือสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เป็นผู้บันดาลหรือเป็นผู้สร้าง แต่สภาวธรรมเหล่านี้เป็นผลอันเกิดมาจากเหตุ คือ กิเลสตัณหานั่นเองที่เป็นผู้สร้าง

๔. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจสภาวธรรมอีกประการหนึ่ง อันเป็นจุดมุ่งหมาย สูงสุดในพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้เข้าถึงนั่นก็คือนิพพาน นิพพาน หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ผู้ที่ปราศจากกิเลสตัณหาแล้วนั้น เมื่อหมดอายุขัย ก็จะไม่มีการสืบต่อของ จิต + เจตสิก และรูป อีกต่อไป ไม่มีการสืบต่อภพชาติ หยุดการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง จึงกล่าวว่านิพพานเป็นธรรมชาติที่ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นธรรมชาติที่ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงและเป็นธรรมชาติที่ พ้นจากจิต เจตสิก รูป นิพพานมิใช่เป็นแดนสุขาวดีที่เป็นอมตะและเพียบพร้อมด้วยความสุขล้วน ๆ ตลอดนิรันดร์กาลตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

๕. การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าใจคำสอนที่มีคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะ แค่การทำทาน รักษาศีล และการทำสมาธิก็ยังมิใช่คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นเหตุให้ต้องเกิดมารับผลของกุศลเหล่านั้นอีก ท่านเรียกว่า วัฎฎกุศล เพราะกุศลชนิดนี้ยังไม่ทำให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฎฐาน ๔ เพื่อให้เห็นว่าทั้งนามธรรม (จิต + เจตสิก) และรูปธรรม (รูป) มีสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ มีการเกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา หาแก่นสาร หาตัวตน หาเจ้าของไม่ได้เลย เมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้วก็จะนำไปสู่ การประหาณกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

๖. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนาซึ่งต้องใช้นามธรรม (จิต + เจตสิก) และรูปปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เมื่อกำหนดรู้อารมณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ ถูกต้อง การปฏิบัติก็ย่อมได้ผลตามที่ต้องการ
๗. การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการสั่งสมปัญญาบารมีที่ประเสริฐที่สุดไม่มีวิทยาการใด ๆ ในโลกที่ศึกษาแล้วจะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งโลกเท่ากับการศึกษาพระอภิธรรม

๘. การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการช่วยกันรักษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังและเป็นการช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรตลอดไป


บางส่วนจาก : http://board.palungjit.com/f45/เรียนฟรีตลอดหลักสูตร-พระอภิธรรม-ทางไปรษณีย์-84245.html

No comments:

Post a Comment