Saturday, June 12, 2010

ไตรสรณคมน์

ไตรสรณคมน์ = การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง
สรณะ = ที่พึ่ง ที่ระลึก ที่ยึดเหนี่ยว ที่เหนี่ยวรั้งใจ

นะโม ตัสสะ ภควโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ ฯ
ขอนอบน้อม เเด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้ โดยพระองค์เอง ฯ

สรุปว่า การท่องนะโมสามจบ เป็นการเเสดงความนอบน้อม เเด่พระพุทธเจ้าครับ


พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย ฯ

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระธรรมเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย ฯ

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย ฯ

ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย แม้ครั้งที่สองฯ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระธรรมเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย แม้ครั้งที่สอง ฯ

ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย แม้ครั้งที่สอง ฯ

ตะติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย แม้ครั้งที่สาม ฯ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระธรรมเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย แม้ครั้งที่สาม ฯ

ตะติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ฯ ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย แม้ครั้งที่สาม ฯ

การสวดไตรสรณคมน์ คือ การกล่าวคำยอมรับ นับถือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
หมายเอาสิ่งทั้งสามนี้ เป็นที่พึ่งสูงสุด
เหตุที่ต้องกล่าวถึง 3 ครั้ง ก็เพราะว่า เพื่อให้เเน่ใจลงไปว่า
บุคคลที่กล่าวนั้น ยินดียอมรับสิ่งทั้งสามนี้ด้วยความเต็มใจครับ และเพื่อให้เเน่ใจจึงให้กล่าวถึง 3 ครั้งครับ

ที่มา http://www.yimyimyim.com/community/index.php?topic=888.0


การนอบน้อมนั้นมี ๔ อย่าง คือ
เพราะเป็นญาติ ๑ เพราะกลัว ๑ เพราะเป็นอาจารย์ ๑ และเพราะถือว่าเป็นทักขิไณยบุคคล ๑.
(ทักขิไณยบุคคล = บุคคลที่ควรเคารพกราบไหว้บูชา)

ใน ๔ อย่างนั้น การนอบน้อมว่าเป็นทักขิไณยบุคคล จัดเป็นสรณคมน์ นอกนี้ไม่ใช่
เช่น

ผู้ใดไหว้ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นญาติ
หรือ ไหว้ด้วยความกลัว ว่าพระสมณโคดมเป็นผู้ที่พระราชาทรงบูชา มีอานุภาพมาก
เมื่อเราไม่ไหว้ จะพึงทำแม้ความพินาศให้
ย่อมไม่เป็นการถือสรณะ

ผู้ใดระลึกถึงมนต์อะไรๆ ที่ตนเรียนในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าในกาลเป็นพระโพธิสัตว์ หรือในกาลเป็นพระพุทธเจ้า
เรียนอนุศาสนีเห็นปานนี้ว่า
บัณฑิตอยู่ครองเรือน พึงแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน
พึงใช้สอยส่วน ๑
พึงประกอบการงาน ๒ ส่วน
พึงเก็บส่วนที่ ๔ ไว้ เผื่อจักมีอันตราย
แล้วไหว้ด้วยคิดว่าเป็น อาจารย์ของเรา ดังนี้
ย่อมไม่เป็นการถือสรณะ


หลายคน นอบน้อมในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แล้วก็ยัง "จตุคามรามเทพัง สะระณัง คัจฉามิ"
บ้างก็นอบน้อม เคารพ บูชา พระพรหม พระวิษณุ อีกด้วย

(แปลกที่ พราหมณ์ ชัดๆ แต่ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่านับถือพุทธ เป็นชาวพุทธ)

โดยลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด
ธรรม ๕ ประการ คือ

อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
เป็นผู้ทุศีล ๑
เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๑
แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา ๑
ทำบุญในทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ฯ

ทรงตรัสไว้ว่า
"ส่วนผู้ใดยึดเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ผู้นั้นเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ
คือ เห็นทุกข์, เหตุเกิดแห่งทุกข์, ความล่วงพ้นทุกข์,
และมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ อันเป็นทางถึงความดับทุกข์
สรณะนั้นของผู้นั้น เป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะสูงสุด
บุคคลอาศัยสรณะนี้แล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ดังนี้."

ที่มา http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=7

การยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จะต้อง
1) นึกถึงหลักคำสอนของ พระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พระธรรม
2) ส่วน พระสงฆ์ ที่เป็นตัวแทนหรือแบบอย่างทางศีลธรรม
นั่นคือ เราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ใกล้เคียงความเป็นอยู่ของพระสงฆ์
ซึ่งอาจจำแนกได้เป็นโดย รูปธรรม และ นามธรรม

โดยรูปธรรม คือ พระสงฆ์ใช้ปัจจัย ๔ คือ เท่าที่จำเป็น
โดยเน้นคุณค่าที่แท้จริง ไม่เน้นคุณค่าเทียมของปัจจัยเหล่านั้น

โดยนามธรรม นั่นคือ คุณธรรมของพระอริยสงฆ์
หมายความว่า ต้องดำเนินชีวิตให้มีคุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่มา http://gotoknow.org/blog/bali/84696

ส่วนตัวแล้ว ผมขอเลือกเป็นอุบาสกแก้ว ครับ
(อุบาสก = ชาวบ้านทั่วไปที่นับถือพระพุทธศาสนา บำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา
ไปวัดทำบุญให้ทาน ถือศีล อุปถัมภ์บำรุงวัด ช่วยเหลือกิจการของวัดเป็นประจำ)

อุบาสกแก้ว
========
1. มีศรัทธา
2. มีศีล
3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
คือ มุ่งหวังจากการกระทำและการงาน
มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์
4. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
5. ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

ที่มา http://84000.org/

คุณหมออมรา มลิลา ได้ฝากข้อคิดในเรื่องที่กล่าวกันว่าการขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง
จะสามารถกำจัดภัยได้จริงนั้น ถึงอย่างไร จึงกำจัดภัยได้จริง

คุณหมอได้อธิบายว่า

การถึงพระพุทธ เพื่อเป็นสรณะนั้น หมายถึง
การเข้าใจถึงศักยภาพของจิตแท้ที่เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ใครก็ตามที่เชื่อเช่นนี้ จนพากเพียรบากบั่น ฝึกอบรมจิตใจของตนให้เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ
ตั้งมั่นในมรรค ไม่ย่อหย่อน อ่อนแอ ท้อแท้ เกียจคร้าน ที่จะปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
จนในที่สุด ใจนั้นถึงพร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา
และมีกำลังพอที่จะขุดรากถอนโคนกิเลสอาสวะทั้งปวงออกไปจากจิตใจได้ จิตของผู้นั้น
ก็จะเป็นอิสระจากสิ่งเศร้าหมอง คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตื่น
เบิกบาน เป็นพุทธะ มีความบริสุทธิ์เทียบเท่ากับพุทธะของพระอรหันต์ทั้งปวง
และของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่ความสามารถทางอภิญญาอาจยิ่งหย่อนกว่ากันได้

การถึงพระธรรม คือ การมีสติรักษาใจให้น้อมเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
มาเป็นธรรมะสอนใจแทนการปล่อยให้ปรุงคิดเตลิดไปตามสัญญา อารมณ์
เกิดเป็นความทุกข์ความคับข้องใจ หรือเมื่อใดใจคิดฟุ้งซ่าน ก็หยุด
กำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันคือขณะเดี๋ยวนี้ เฉพาะหน้าแต่ละขณะ แต่ละขณะ
ใจที่ฝึกเช่นนี้ จะเปรียบเสมือนมีธรรมของพระพุทธองค์เทศน์ให้ฟังอยู่ในใจตลอดเวลา

เมื่อไม่มีสิ่งกระทบก็รู้อยู่กับปัจจุบัน
เมื่อมีสิ่งกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผัสสะจากภายนอกหรืออารมณ์ของใจเอง
ก็จะหมุนให้คิดเป็นมรรคทุกครั้ง จะเปลี่ยนจากความคิดที่เป็นกิเลสให้เป็นมรรค
เปลี่ยนกิเลสเป็นมรรค ดังนี้เรื่อยไป ดังนั้น

ความคิด คำพูด หรือการกระทำด้วยกายทุกอย่างๆ จะเป็นการกระทำเพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์ถ่ายเดียว

การถึงพระสงฆ์ คือ การน้อมตนให้ปฏิบัติดัง “พระสงฆ์”
คือ เป็นผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปันโน) ปฏิบัติตรง (อุชุปฏิปันโน) ปฏิบัติถูก (ญายปฏิปันโน) ปฏิบัติชอบ (สามีจิปฏิปันโน)
ตลอดเวลาที่จะระลึกได้

การปฏิบัติดังกล่าวมานี้คือ การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จะเป็นสรณะที่พึ่งอันแท้จริง
สามารถกำจัดทุกข์ กำจัดภัยได้จริง

จาก หนังสือตามรอยธรรม ย้ำรอยครู หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

No comments:

Post a Comment