ความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีนั้น ใช่แต่จะคอยส่งเสริม เชียร์ หรือไม่คัดง้างขัดใจใครเลย
หากเห็นใครพูดผิด คิดผิด แล้วไม่สะกิดบ้าง จะเรียกกัลยาณมิตรไม่ได้
แม้ในพระวินัยนั้น พระพุทธองค์ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
กล่าวคือมีข้อหนึ่ง ที่ภิกษุเห็นภิกษุด้วยกันละเมิดวินัยแล้วไม่กล่าวเตือน
ภิกษุผู้ละเลยนั้นถือว่าต้องอาบัติ พลอยมีมลทินไปด้วย
ต้องปลงอาบัติอีก ทั้งที่ตนไม่ได้มีส่วนสมคบกับภิกษุผู้ละเมิดวินัยแต่อย่างใด
ว่าถึงสังคมฆราวาสผู้ใฝ่ดี ใฝ่ทางธรรมก็เช่นกัน
ในเมื่อตกลงปลงใจร่วมเสวนากันดิบดีอย่างนี้แล้ว
ก็จำเป็นต้องมีธรรมเนียมอัน "รู้กัน" ว่า
สามารถสะกิดเมื่อเห็นฝ่ายใดพูดผิด
ถ้าเตือนได้ก็จะให้ผลดี ไม่เป็นบาป เป็นมลทินกับผู้พูดผิดต่อไป
ไม่ใช่ไปนึกเกรงว่าเกิดสะกิดเตือนผู้ปฏิบัติดี หรือผู้เป็นโพธิสัตว์ใหญ่
หรือแม้กระทั่งหวาดๆอยู่ว่าบางคนจะเป็นอริยะหรือเปล่า
สะกิดนิดสะกิดหน่อยแล้วจะเกิดบาปเกิดกรรมต่อเรา
ถ้าแน่ใจว่าสะกิดด้วยกุศลเจตนา ไม่เพ่งโทษ ไม่คิดวางก้าม ไม่ต้องการอวดภูมิ ไม่เจืออยู่ด้วยโทสะ
นอกจากจะไม่บาปแล้วยังเกิดมหากุศลอีกด้วย
ยิ่งคนที่เราสะกิดเขามีบุญเท่าไหร่ ปฏิบัติได้สูงเพียงไหน
ส่วนสะท้อนของบุญก็จะยิ่งแรงขึ้นเพียงนั้น
ขอให้สังเกตว่าแม้สมัยพุทธกาลเอง พระอรหันต์จำนวนหนึ่งทำผิด
ยังเป็นที่มาให้พระพุทธองค์ตำหนิ และวางกฎ วางวินัยห้ามไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่าง
เช่นพระจูฬปันถกะที่สอนภิกษุณีจนล่วงเวลาเย็น
พระพุทธองค์ก็ตรัสตำหนิว่าไม่เหมาะแก่สมณสารูป
หรือที่พระปิณโฑลภารทวาชะแสดงฤทธิ์เหาะไปเอาบาตรเศรษฐีที่แขวนบนยอดไผ่
ในเชิงท้าว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์จงปลดลงมา
ปรากฏว่าพระพุทธองค์ตำหนิเสียไม่มีชิ้นดี
นี่เป็นแง่พิจารณาว่าขนาดพระอรหันต์นั้น
บางทียังทำสิ่งที่เป็นโลกวัชชะ หรือสิ่งที่ชาวโลกอาจติเตียน
เราๆผู้ยังกระเสือกกระสนดิ้นรนหนีแรงดึงดูดของกิเลสไม่พ้น
ก็ย่อมต้องคิดผิด กล่าวผิด หรือเชื่ออะไรผิดๆเป็นผลเสียหายได้เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการกล่าวตู่พุทธพจน์
หรือการกล่าวตามอัตโนมัติของตน หรือกลุ่มความเชื่อของตน
เพราะฉะนั้นในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องผิดพลั้งบ้าง
ก็จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการถูกติ ถูกกล่าวค้านเป็นบางครั้ง
ทั้งนี้ผู้กล่าวติและผู้ถูกติ ควรดูแบบอย่างพระผู้ใหญ่สมัยพุทธกาล
พระพุทธเจ้าเป็นประมุขของอรหันต์
เคยประทานโอกาสให้สงฆ์ติเตียนท่าน
...
เราจึงควรน้อมแบบอย่างอันดีงามนี้ไว้
ที่มา http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003161.htm
No comments:
Post a Comment