Monday, December 14, 2009

Wish

ความหมายของคำว่า "อธิษฐาน" นั้น
ทุกวันนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า คือ
"การขอ การอ้อนวอนให้ได้ตามที่ตนปรารถนา"
เช่นอธิษฐานขอให้สิ่งที่หวังไว้
จงสมหวังทุกประการ
หรือไม่ก็ "อธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองลูกช้างด้วย" อะไรทำนองนี้

แปลคำว่า "อธิษฐาน" ว่า "ขอ"
มันผิดเพี้ยน ซึ่งเป็น อวิชชา
(คือความไม่รู้จริงตามหลักการหรือสัจจะของความเป็นพุทธศาสนา)

ตั้งจิตขอหรือตั้งใจอ้อนวอนให้อะไรก็ได้บันดาลให้สมใจ
เป็นการแสวงหาบุญ 'นอก' ขอบเขตพุทธ

เพราะมักง่าย ขี้โลภ เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว
ก็เลยแทนที่จะตั้งใจทำอะไรด้วยอุตสาหะ อดทน พึ่งตนเองให้ได้
ก็ไม่ตั้งใจทำแล้ว
ตั้งใจแต่อยากได้ โดยไม่ต้องทำ
หรือทำแต่น้อยขอให้คนอื่นช่วยให้มาก
กิเลสมันพาเพี้ยนไปไกลเลย
อธิษฐานขอโน่นขอนี่

อธิษฐานก็ตั้งใจอยากได้อะไร
เอาคำว่าอยากได้มาใส่เข้าไปอย่างเห็นแก่ตัว

อยากได้อะไร พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้ทำเอง
ไม่เคยสอนให้อยากได้อะไรแล้วขอ ไม่เคยสอนอย่างนั้น

ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาอ้อนวอนร้องขอ
อัตตา หิ อัตโนนา โถ ให้พึ่งตนเอง

ฉะนั้น คำว่าอธิษฐาน
ถ้ามีจิตโน้มไปในลักษณะเทวนิยม มันจะกลายไปเชื่อสิ่งบันดาล
มีฤทธิ์เดชที่จะได้โดยที่เราไม่ต้องทำ
พึ่งผู้อื่นให้มาทำ มาสร้างให้ โดยเราเองไม่ต้องทำ
หรือทำแต่น้อย เสียนิสัยหมด

แต่ศาสนาพุทธสอนให้พึ่งตน
ตนนี่แหละเป็นนักสร้าง
ไม่งอมืองอเท้า ไม่เอาแต่รอหรือขอผู้อื่นช่วย
เราต้องช่วยตนเองพึ่งตนได้ จนกระทั่งผู้อื่นก็พึ่งเราได้ด้วย

คำว่า"อธิษฐาน" มิได้มีความหมาย ดังเช่นที่กล่าวมาเลย
หนำซ้ำ ยังกลับมีความหมาย ตรงกันข้ามซะอีก

อธิษฐานในความหมายของชาวพุทธ ที่ถูกต้องแปลว่า
ตั้งใจไปในทางที่ดีอย่างแน่วแน่
เช่น ตั้งใจถือศีล ๕

ไม่ใช่การตั้งเป้าหมายเท่านั้น
(เป้าหมายนั้นอาจจะตั้งไว้ก่อนแล้วก็ได้)
แต่เราต้องพยายาม 'ทำ' ด้วย

กิเลสมันทำให้จิตเราล้มไปหามันเรื่อย
กิเลสมันจะพยายามดึงเราล้ม
เราก็พยายามตั้งขึ้นมา ตั้งตัว ตั้งใจขึ้นมาเรื่อยๆ
คือมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม
แล้วก็ตั้งใจตามที่เราอธิษฐานไว้ให้มั่นให้แน่วแน่ต่อไปให้ได้

อธิษฐานไม่ใช่ตั้งใจครั้งเดียว
มันควรมีอธิษฐานตลอดเวลา
ไม่ใช่ตั้งไปทีเดียวแล้วก็ไม่รู้เรื่อง
มันก็ไม่มีผล ไม่ก้าวหน้า

เราต้องพยายามรู้ในความนึกคิดของเรา
คือจิตเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง
เพราะฉะนั้นจึงควรมีสติมีสัมปชัญญะความระลึกควบคุมจิตให้ดี
ไม่ปล่อยตามอำเภอใจ ทำให้กิเลสมีฤทธิ์เดช
ออกมาควบคุมเป็นเจ้าเรือน จนไม่รู้ดีรู้ชั่ว
ฉะนั้นถ้าเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วตั้งใจให้ได้เสมอๆ
ตั้งใจทำอะไร ตั้งใจให้เป็นอะไรขึ้นมา
เช่น ตั้งใจทำดีอย่างใด เราก็ต้องมีสติ
วายามะ รู้ตัวทั่วพร้อม
และพยายามประพฤติปฏิบัติตามที่เราตั้งใจไว้

ตั้งมัน มีตัวรู้ มีตัวเริ่มต้นให้มันไปทิศไหน
มีเป้าหมาย มีความมุ่งหมาย มีเจตนารมณ์อะไร
ตามที่เราตั้งใจแน่วแน่เอาไว้
แล้วเราก็ได้วิจัยวิเคราะห์ให้แก่ตัวเอง เข้าใจตนเองให้ได้ว่า
เราเป็นไปตรงตามที่ได้อธิษฐานหรือได้ตั้งใจมั่นไว้นั้นหรือไม่
รู้ตัวให้ได้เสมอแล้วอธิษฐานเสมอ แล้วก็ทำ
นี่เป็นลักษณะของคำว่า 'อธิษฐาน' หรือตั้งจิตให้ดีให้แน่วแน่
ตั้งให้ชำนาญจนมันชิน
เป็นบารมี ๑ ในบารมี ๑๐ ที่สำคัญมาก

ในบารมี ๑๐ มีหลักของบารมี ๑๐ อีก ๔ ตัว เริ่มตั้งแต่
ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา
๔ ตัวแรก แล้วมันจะมี วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน
มีความเพียร อดทน สัจจะอธิษฐาน ๔ ตัวนี้
จะเป็นสมังคี ทำงานประสานกันเหมือนกัน
เพราะเมื่อเราจะเพียรอะไรต่อ เราทำ๔ ตัวหน้านี้เป็นหลักใหญ่
๔ ตัวนี้จะเป็นตัวซ้อนเสริมส่วนในส่วนลึก
วิริยะเป็นตัวแรงใน
ขันติเป็นตัวอดทน
ทำไปแล้วเกิดปัญญาเลือกเฟ้นหาสัจจะให้เกิดสัจจะ
เพียรแล้วอดทน เพียรแล้วอดทน ในลักษณะที่เพียรไปอดทนไป
จะมีตัวอธิษฐานคือตั้งใจไปตามเป้าหมายอย่างแน่วแน่
เป็นตัวนำอยู่แถวหน้าไปตลอด

'อธิ' ในความหมายโดยตรงของมัน แปลว่า 'ยิ่งขึ้นๆ'
ตัวอย่างเช่น ในช่วงเข้าพรรษา เราตั้งใจถือศีล ๕
เริ่มต้นเราก็ตั้งใจถือสัก ๕ เดือน
เมื่อสำเร็จ ทำได้แล้วได้ดี
ก็ไม่ทำต่อ ไม่ต้องเลิก
หรือไม่ก็เพิ่มเป็นศีล ๘
ทำขึ้นไปเป็นศีล ๑๐ สูงขึ้นต่อไปอีก
ให้สอดคล้องกับคำว่า 'อธิ'
ขึ้นไปเรื่อย

เรียบเรียงจาก http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Sanasoke/15min_bodhi/vol143.html

"อธิษฐานไม่ใช่อ้อนวอนขอ แต่ถือความตั้งใจมั่นที่จะทำให้สำเร็จ"

No comments:

Post a Comment