Sunday, September 12, 2010

แนวทางการปฏิบัติโดยย่อ

จากหนังสือ: รู้ตัวที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะสายไป
คณะผู้จัดทำ ชมรมสร้างสรรค์ใจ

๑ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ
คือ มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัว ตื่นตัว แจ่มใส ตาสว่าง
รู้สิ่งที่กำลังปรากฎทางอายตนะต่างๆในขณะนั้นตามที่เป็นจริงและชัดเจน
ไม่หลง/งัวเงีย/ตาปรือ/ซึมเซา
(ไม่ใช่การกระจายความรู้สึกไปทั่วตัว)
รู้ตัวมีสภาพตรงกันข้ามกับเผลอ
เผลอ คือ หลง ลืม เหม่อ (เพราะถูกโมหะครอบงำ)
จึงเห็น/ได้ยิน/ดมกลิ่น/ลิ้มรส/สัมผัส/คิด/ทำ/พูด โดยไม่รู้ตัว
ถ้าเผลอมาก ก็เหมือนร่างกายและจิตใจหายไปจากโลกเลย

๒ ทำกายให้สบาย
อยู่ในท่าที่สบาย ไม่เกร็ง ไม่ฝืนธรรมชาติ ทำใจให้สบาย
ไม่เครียด ไม่คิด รู้ตัว ตื่นตัว รู้ชัดเจน แจ่มใส
ทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานต่างๆด้วย ความรู้ตัว
เช่น เวลาเดินก็รู้สึกตัวถึงการเดิน (รู้ตัวไป+เดินไป)
เมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงก็รู้สึกตัวถึงการเห็นหรือการได้ยินนั้น
จะทำอะไรก็รู้สึกตัวถึงการกระทำนั้น

๓ ไม่รีบร้อน ไม่หวังผล/อยากรู้/อยากได้ (ปิติ สุข สงบ มรรคผล)
ไม่เพ่ง ไม่จ้อง (มองทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง)
ไม่บังคับให้รู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ
แต่ให้รู้ทั่วๆอย่างไม่เจาะจง สิ่งใดมากระทบก็ให้รู้สิ่งนั้น
เช่น ขณะเดิน แม้จะไม่ตั้งใจก็ต้องเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รู้สัมผัสทางกายบ้าง รู้ว่าเผลอคิดไปบ้าง
ผัสสะที่แรงจะทำให้จิตสนใจไปรู้เอง
สิ่งที่ถูกรู้จึงมีทั้งที่จิตจงใจไปรู้ และผ่านเข้ามาให้จิตรู้โดยไม่ได้จงใจ

๔ ใช้ความรู้สึกตัวเฝ้าดูความคิด (และอารมณ์)อยู่เสมอ
โดยดูเฉยๆ เบาๆ นุ่มๆ อย่าเพ่ง อย่าจ้อง อย่าห้าม อย่าตาม
ถ้ารู้ตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อความคิดเกิดก็จะรู้ทันที
(ผู้ที่เริ่มปฏิบัติอาจข้ามข้อนี้ไปก่อน)

๕ รู้แล้วปล่อยวางสิ่งที่รู้นั้น
ไม่ยึดติด/ยินดี/ยินร้าย/พูดในใจ/วิจารณ์
ไม่ทำทุกสิ่ง กลับไปข้อ ๑

๖ ถ้ารู้สึกสงสัย/กลัว/กังวล/โกรธ/ตื่นเต้น
..แสดงว่า เผลอ
เมื่อรู้ว่า เผลอ กลับไปข้อ ๑

note
====
เพ่ง คือ ตั้งใจรู้ตัวมากจนเกินพอดี
ทำให้หลุดจากการรู้ตัว
เป็นการบังคับจิตไม่ให้ทำงานอย่างอิสระตามปกติ
โดยให้ใส่ใจรู้เฉพาะอารมณ์เดียว ไม่ให้ไปรู้อารมณ์อื่นเลย

ถ้าเทียบกับการอ่านหนังสือ แล้วมีคนเดินผ่าน
เพ่ง คือ อ่านรู้เรื่อง แต่ไม่รู้ตัวว่ามีคนเดินผ่าน
รู้ตัว คือ อ่านรู้เรื่อง และรู้ว่ามีคนเดินผ่าน
เผลอ คือ อ่านก็ไม่รู้เรื่อง คนเดินผ่านก็ไม่รู้

กิเลสละได้ด้วยการ "รู้" (ภาวนามยปัญญา)
มิใช่ด้วยการ "คิด" (จินตามยปัญญา)

คิด คือ อาการที่จิตทำงานทางมโนทวาร
ขณะที่คิดจะไม่รับรู้สิ่งที่ปรากฎทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
คิดมีหลายรูปแบบ
เช่น พูดในใจ คิดถึงอดีต/อนาคต/ภาพ/เสียง/กลิ่น/รส/สัมผัส
คิดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
คิดแบบรู้ตัว (ด้วยสติปัญญาซึ่งไม่ก่อให้เกิดกิเลส ทำได้เฉพาะผู้ที่มีสมาธิตั้งมั่นแล้ว)
กับเผลอคิด (โดยไม่รู้ตัว ซึ่งก่อให้เกิดกิเลส)

ขณะที่ท้อใจว่า "ปฎิบัติไม่ได้" "ยาก" ฯลฯ
ขณะนั้นกำลังคิดอยู่ ถ้ารู้ทันความคิดเหล่านี้ จะไม่ท้อใจ

เมื่อคิดถึงสิ่งใดมาก จิตก็ยิ่งน้อมไปในสิ่งนั้น
ถ้าให้ความสำคัญกับความรู้ตัวยิ่งกว่าสิ่งอื่น ความรู้ตัวก็เกิดง่าย
ถ้าเห็นว่าสิ่งอื่นสำคัญกว่า ความรู้ตัวก็เกิดยาก
-พุทธภาษิต

การปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ แทรกไปในชีวิตประจำวัน
ไม่แบ่งแยกว่า ช่วงนี้ปฏิบัติ ช่วงนี้พัก
ปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การออกจากความเผลอมี ๒ แบบ คือ
จิตออกมาเองหลังจากเผลอจนอิ่ม
กับมีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก
เช่น หายเผลอเมื่อได้ยินเสียงนกร้อง
เพราะเคยฝึกให้รู้ตัวเมื่อได้ยินเสียงเหล่านั้นมาแล้ว
ดังนั้น การฝึกให้รู้ตัวในรูปแบบที่หลากหลายจะช่วยพัฒนาสติได้มาก

นักปฎิบัติท่านหนึ่งสำรวจและบันทึกว่า
ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีกิจวัตรอะไรบ้างที่ทำโดยไม่รู้ตัว
แล้วพยายามฝึกบ่อยๆ ให้รู้ตัวในกิจวัตรเหล่านั้น
วิธีนี้ทำให้รู้ตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง (เกือบ)ตลอดวัน
จัดเป็นภาวนาปธาน = เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

หลักการเจริญสติ คือ "รู้ปัจจุบันธรรม และเพียรรู้อยู่เนืองๆ"
ปัจจุบันธรรม = สิ่งที่กำลังปรากฎทางอายนะต่างๆในขณะนั้น
เพียรรู้ ไม่ใช่อยากรู้

ปัจจุบันธรรมที่ผู้เริ่มปฏิบัติควรใส่ใจอยู่เสมอ คือ
การเคลื่อนไหวของกาย หรือสัมผัสทางกาย

แต่นี้ไป ให้ใช้ชีวิตอยู่กับความรู้ตัว
มิฉะนั้นชีวิตที่เหลือน้อยนี้ ก็จะสูญเปล่าไปอีก

ผู้ที่ต้องการในรู้แบบหนังสือกรุณาติดต่อ
คุณปิยมงคล โชติกเสถียร
02-255-2714
piyamongol@yahoo.com

No comments:

Post a Comment