Thursday, September 16, 2010

แนวทางการเจริญสติ

ประโยชน์ของการเจริญสติ http://siripong-buddhism.blogspot.com/2010/08/nipana.html

สรุป (เท่าที่รู้ ซึ่งจะคอยมาปรับปรุงให้ถูกต้องขึ้น)
ซึ่งรวบรวมจากพระไตรปิฏก
และจากคำสอนของครูบาอาจารย์
(ที่ทดลองปฏิบัติ ลองผิดลองถูกมาแล้ว)
มาบรรยาย ว่าเราผู้ที่เดินตามหลังมา
ควรเดินตามอย่างไร จะได้สั้น ง่ายที่สุด
(ได้แก่
- หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
- หลวงพ่อปราโมทย์
- พระครูเกษม เขมรังสี
- พระคันธสาราภิวงศ์
- อ.กำพล ทองบุญนุ่ม)

การเจริญสติ คือ
มีสติสัมปชัญญะ
ตามรู้สภาวธรรม ที่เป็นปัจจุบันของกาย+จิต อย่างชัดเจน (ไม่เพ่ง) ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น (อยู่กับการตามรู้ปัจจุบัน)



สภาวธรรม คือ สภาพที่ไม่แปรปรวนตามกาลเวลา บุคคล หรือสถานที่
เช่น ความร้อนของไฟ ไม่ใช่คำว่า "ร้อน" หรือ "hot"

รู้ปัจจุบันของกาย
===========
1. รู้สึกถึงการเคลื่อนของอวัยวะเป็นส่วนๆ
เช่น การแกว่งแขน หรือ การก้าวเท้าเดิน

ซึ่งสำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติบางท่าน การกำหนด หรือ บริกรรม
(เช่น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ในขณะเดิน, ยก เหยียบ ในขณะขึ้นลงบันได)

2. รู้กายทั้งตัว เหมือนเรากำลังดูหุ่นยนต์ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่
โดยที่ ร่างกายไม่เกร็ง ไม่ฝืนธรรมชาติ
จะทำอะไร ก็รู้สึกตัวถึงการกระทำนั้น
(เช่น เวลาเดินก็รู้สึกตัวถึงการเดิน = รู้ตัวไป+เดินไป)

3. ถ้าไม่ได้เคลื่อนไหว เปลี่ยนอิริยาบทใด
เช่น ยืนอยู่เฉยๆ นั่งอยู่เฉยๆ หรือนอนอยู่เฉยๆ
ให้สังเกตุการเคลื่อนไหวของ หน้าท้อง หรือกะบังลม
หรือรู้สึกถึงสัมผัสของลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก


(อาจบริกรรม ยุบหนอ พองหนอ พุท-โธ ก็ได้)

*รู้ปัจจุบันของกาย ต้องรู้ที่เป็นปัจจุบันจริงๆ (วินาทีที่แล้วก็นับเป็นอดีต)

#อย่าเคร่งเครียด อย่าไปคิดว่าเราจะปฏิบัติธรรม
ให้คิดเพียงว่า เราจะสังเกตดูร่างกายของเรา
สังเกตได้แค่ไหนก็ไม่เป็นไร เอาว่าให้ได้ เท่าที่ทำได้ก็พอ

(ส่วนตัว, คิดว่าวิธีเหล่านี้ง่ายสุด ซึ่งวิธีการรู้กายวิธีอื่นก็มี เช่น ธาตุมนสิการบรรพ)

รู้ปัจจุบันของจิต
==============
จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น, สัมผัสไม่ได้ด้วยกาย, ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสัน วรรณะใดๆ
แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริง
เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติฝ่ายนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

จิตจะมีสถานที่เกิด คือ อายตนะทั้ง ๖
จิตไปเกิดที่ตา ก็จะเห็นรูปที่ปรากฏทางตา
จิตไปเกิดที่หู ก็จะได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู
จิตไปเกิดที่จมูก ก็จะรู้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก
จิตไปเกิดที่ลิ้น ก็จะรู้รสที่ปรากฏทางลิ้น
จิตไปเกิดที่กาย ก็จะรับความรู้สึกต่อการสัมผัสทางกาย
จิตไปเกิดที่ใจ ก็จะรู้สึก นึก คิด

จิตจะรับรู้ ได้ทีละ 1
(เช่น ขณะที่เห็น จะไม่ได้ยิน, ขณะที่ได้ยิน จะไม่คิด เป็นต้น)
จิต จะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ชั่วเวลาดีดนิ้ว จิตจะมีการเกิดดับ สี่ล้านล้านครั้ง
เร็วจน เราคิดว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน

รู้ปัจจุบันของจิต คือ การรู้แบบต่อเนื่องกับปัจจุบัน
อย่างกระชั้นชิดถึงจิตที่เพิ่งดับไปสดๆร้อนๆ จากอายตนะต่างๆ

แบ่งสิ่งที่ตามรู้ออกเป็น 2 อย่าง คือ
1) ตามรู้การทำงานของจิต (คือ สังเกตุการเกิดดับทางอายตนะต่างๆ)
2) ตามรู้ความรู้สึกทางใจ

ตัวอย่างการตามรู้การทำงานของจิต
เช่น สังเกตุเห็นว่าจิตไปเกิดที่ตา คือเห็นภาพ แล้วก็ดับไป
แล้วไปเกิดทางหู คือได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป
เดี๋ยวก็แว๊บไปคิดบ้าง แล้วก็รู้สึกถึงความเย็นที่เท้าสัมผัสพื้น เป็นต้น


*การตามรู้การทำงานของจิตนี้ ไม่ใช่การบังคับจิตให้ไปรับรู้ทางโสตต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ตาบ้าง หูบ้าง
แต่ให้รู้ทั่วๆอย่างไม่เจาะจง รู้สึกถึงจิตที่เกิดขึ้นทางอายตนะไหนชัด ก็ให้รู้จิตนั้น

สำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติบางท่าน การกำหนด หรือ บริกรรม
(เช่น เห็นหนอ ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ เย็นหนอ แข็งหนอ คิดหนอ)

ส่วนการตามรู้ความรู้สึกทางใจ
(เช่น หลังจากเห็นภาพ,ได้ยินเสียง หรือ คิด
แล้วเกิดความรู้สึก สุข, ทุกข์, เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์, หงุดหงิด, กลัว, กังวล, อิจฉา)
ให้รู้ สภาวะ สภาพ ความรู้สึก ของอารมณ์นั้นๆ (ไม่ใช่ความคิด)
ตามสังเกตความรู้สึกนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มเกิดความรู้สึก ตั้งอยู่ แล้วความรู้สึกนั้นหายไป
โดยที่
1) ไม่ต้องรู้อย่างถี่ยิบ ให้ดูห่างๆ (ชำเลืองดู) (สลับไปดูอย่างอื่นบ้าง)
(จะได้ไม่ถลำลงไปในอารมณ์ที่กำลังดู)
2) ไม่ต้องพยายามรู้ให้ชัดเจนกว่าที่จะรู้สึกได้ตาามปกติ
3) ไม่ต้องตั้งชื่อความรู้สึก หรือว่าเป็นความรู้สึกอะไร เช่น โกรธ, สุข
4) ไม่ต้องหยุดความรู้สึกนั้นๆ - ให้รู้เฉยๆ
5) รู้สึกสภาวธรรมอย่างแท้จริง เหมือนรู้รสเค็มของเกลือ รู้สภาวะพองยุบ ตึง หย่อน - ดูจิตให้ถึงจิต

# รู้แล้วปล่อย (ไม่ปรุงแต่ง) วางสิ่งที่รู้นั้น
ไม่ยึดติด/ยินดี/ยินร้าย/พูดในใจ/วิจารณ์ว่าดี-ไม่ดี, ควร-ไม่ควร - ไม่ทำทุกสิ่ง
กลับไปมีสมาธิในการรู้ปัจจุบันของกาย-จิต ต่อไป


# ผู้ที่ไม่ถนัดดูจิต ให้เริ่มต้นโดยดูกายอย่างเดียวก็ได้
แต่จะหยุดแค่ดูกายไม่ได้ (การดูกายจะอบรมจิต ให้จิตรู้ว่า กายไม่ใช่ตัวตน)
เมื่อดูกายจนชำนาญแล้วค่อยมาดูจิต เพื่ออบรมให้จิตรู้ว่า จิตไม่ใช่ตัวตน ต่อไป
ดังนั้นถ้าดูจิตได้ ให้ดูจิตควบคู่ไปเลย
(รู้กายช่วยกระตุ้นให้รู้ใจ รู้ใจจะช่วยกระตุ้นให้รู้กายได้ - ให้รู้สิ่งที่ปรากฎชัด)

# ต้องตามรู้กาย+ใจตามความเป็นจริง - ไม่ใช่เข้าไปดัดแปลง หรือควบคุมกาย,ใจ

#กุญแจหลักในการเจริญสติ คือ
"ไม่ส่งจิตออกนอก(ตัว) และไม่ส่งจิตเข้าใน (ถลำหลงเข้าไปในความคิด,อารมณ์)
รู้ปัจจุบันธรรม และเพียรรู้อยู่เนืองๆ"

แนวการปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ แทรกไปในชีวิตประจำวัน ยกเว้นเวลาที่ต้องใช้ความคิด
ไม่แบ่งแยกว่า ช่วงนี้ปฏิบัติ ช่วงนี้พัก ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ


อาจเริ่มต้น จากการตั้งปณิธาน เช่น
จะเจริญสติทุกครั้งที่เคี้ยวอาหาร (ทำให้เคี้ยวละเอียด -> กระเพราะไม่ทำงานหนัก )
,จะเจริญสติ ทุกครั้งที่ นั่งดูทีวี (ให้ความสำคัญกับการเจริญสติอยู่ที่ลมหายใจ มากกว่าสิ่งที่เห็น)
,ทุกครั้งที่รถติดเจอไฟแดง (เปลี่ยนวิกฤต เป็นโอกาสในการสร้างบุญกุศล)
,นัดเจอแฟน แล้วแฟนมาช้า (เปลี่ยนการสะสมอกุศลจากการโกรธ เป็นสร้างมหากุศลในการเจริญสติ)
,ก่อนหลับตานอน (ให้จิตดวงสุดท้ายก่อนหลับ เป็นมหากุศลจิต)
,ตื่นขึ้นมา ก็ตื่นขึ้นมาพร้อมสติ
,ระหว่างเวียนเทียน, ตอนสวดมนต์, ตอนกรวดน้ำ
,เดินขึ้นบันได, บิดลูกบิดประตู, แปรงฟัน, เป็นต้น

แล้วพยายามทำตามปณิธานที่ตั้งไว้

เมื่อคิดถึงสิ่งใดมาก จิตก็ยิ่งน้อมไปในสิ่งนั้น
ถ้าให้ความสำคัญกับความรู้ตัว ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ความรู้ตัวก็เกิดง่าย
ถ้าเห็นว่าสิ่งอื่นสำคัญกว่า ความรู้ตัวก็เกิดยาก

พุทธภาษิต



เผลอ
====
เผลอ (ในแง่ผู้เจริญสติ) คือ ที่ไม่ได้มีสติ ในการระลึกถึงกาย
หรือจิต (ว่าไปเกิด หรือรับรู้ ทางอายาตนะไหนอยู่)
มีสมาธิอยู่กับเรื่องสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน อื่นๆ ภายนอกตัว
หรือมีสมาธิอยู่กับเรื่องที่กำลังคิด
เหมือนร่างกายและจิตใจหายไปจากโลกเลย
เช่น ตอนดูละครทีวี ร้องเพลง ปรุงอาหาร คิดสงสัย เหม่อ

การออกจากความเผลอมี ๒ แบบ คือ
๑) จิตออกมาเองหลังจากเผลอจนอิ่ม
๒) กับมีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก
เช่น หายเผลอเมื่อได้ยินเสียงนกร้อง
เพราะเคยฝึกให้ “รู้ตัว” เมื่อได้ยินเสียงเหล่านั้นมาแล้ว
ดังนั้น การฝึกให้รู้ตัวในรูปแบบที่หลากหลาย จะช่วยพัฒนาสติได้มาก

*จุดที่น่าสนใจ คือ การเจริญสตินั้น ต้องใช้ความเพียรในช่วงแรก (ช่วงทำมากได้น้อย)
เมื่อจิตจำสภาวะได้แม่น เมื่อสภาวะนั้นๆเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้นมาเอง
(เช่น เริ่มก้าวเท้าเดิน ความรู้ตัวก็เกิดเอง เข้าสู่ช่วงตั้งใจทำน้อย แต่ได้ผลมาก)


นักปฎิบัติท่านหนึ่งสำรวจและบันทึกว่า
ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีกิจวัตรอะไรบ้างที่ทำโดยไม่รู้ตัว
แล้วพยายามฝึกบ่อยๆ ให้รู้ตัวในกิจวัตรเหล่านั้น
วิธีนี้ทำให้รู้ตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง (เกือบ)ตลอดวัน
*จัดเป็นภาวนาปธาน = เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

คนที่บรรลุอรหันต์ผล คือ คนที่มีสติสัมปชัญญะ ทุกขณะจิต
คนที่บรรลุโสดาบันผล รู้ตัว 50 %
เราเพียรรู้ตัวไปเรื่อยๆ
ชาตินี้ไม่ถึง ก็สะสมไปฝึกต่อชาติหน้า
ชาติหน้าไม่ถึง กัปใดกัปหนึ่งก็ถึง
ฝึกไปเรื่อยๆ เพียรไปเรื่อยๆ ต้องถึงสักวัน

เพ่ง
===
เพ่ง คือ ตั้งใจรู้ตัวมากจนเกินพอดี ทำให้หลุดจากการรู้ตัว
เป็นการบังคับจิตไม่ให้ทำงานอย่างอิสระตามปกติ
โดยใส่ใจรู้เฉพาะอารมณ์เดียว ไม่ให้ไปรู้อารมณ์อื่นเลย

ถ้าเทียบกับการอ่านหนังสือ แล้วมีคนเดินผ่าน
เพ่ง คือ อ่านรู้เรื่อง แต่ไม่รู้ตัวว่ามีคนเดินผ่าน
รู้ตัว คือ อ่านรู้เรื่อง และรู้ว่ามีคนเดินผ่าน

ไม่จำเป็นต้องรู้แบบไม่ให้คลาดสายตา เพราะจะเป็นการดักดูกายใจ
ให้เพียรหมั่นตามรู้กายใจเนืองๆ


แค่ไหนจึงจะเรียกว่าก้าวหน้า
===================
“เมื่อถูกยุงกัดแขน เรารู้สึกคัน ก็เกิดความโกรธ อยากตบยุง แล้วตบยุง”

ก็รู้ตัวได้ว่า
- พออาการคันปรากฎ ก็รู้อาการนั้น
(เห็นเพียงอาการคันของกาย ไม่ใช่คิดว่าเราคัน)
- เมื่อความโกรธปรากฎ ก็รู้ทันความโกรธ
- เกิดความอยากตบยุง ก็รู้ทันความอยาก
- พอคิดตกลงใจจะตบยุง จิตสั่ง
มือเริ่มเคลื่อนไหวในอาการที่เรียกว่า ตบ
ก็รู้อาการเคลื่อนไหวของมือ


หมายเหตุ
========
- ตอนเดินจงกรม หรือ นั่งสมาธิ ก็ทำวิธีการเดียวกันนี่แหละ
- ทำสมถกรรมฐานสลับควบคู่ไปด้วย เพื่อให้จิตได้พักผ่อน มีกำลัง
- ไม่รีบร้อน ไม่หวังผล/อยากรู้/อยากได้ (ปิติ สุข สงบ มรรคผล)
- ผู้ที่กำจัดความฟุ้งซ่านได้ืคือ พระอรหันต์ เท่านั้น (แม้พระโสดาบัน ก็ยังมีความฟุ้งซ่าน)
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็ให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน (จิตตานุปัสสนา)
- ขณะที่รู้อย่างถูกต้อง เป็นมหากุศลจิต ซึ่งมีได้เฉพาะโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาเท่านั้น
(และ โทมนัสเวทนาย่อมเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น)
ถ้าลองทำแล้วรู้สึกเครียดจากการตามรู้ แสดงว่าผิดวิธี
- เวลาเกิดทุกขเวทนาทางกาย
ควรตามรู้ทุกขเวทนาเหมือนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของตัวเรา
เหมือนเรามองดูคนที่ไม่รู้จัก ด้วยใจเป็นกลาง

- มีวิธีการภาวนาอีก เช่น นั่งสมาธิจนจิตรวมเป็นหนึ่ง เกิดฌาน แล้วจึงยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เป็นต้น
- เริ่มต้นปฎิบัติ
แต่เดิมอาจใช้กลยุทธ์ "เจ้าทุยลุยทุ่ง" คลำทางเอง
ตอนนี้มีแผนที่แล้ว ลองปฎิบัติดู
ตรงกลางระหว่างเพ่งกับเผลอ ต้องปฎิบัติด้วยตนเอง จึงจะรู้
- การบริกรรม อาจช่วย ให้มีสติสัมปชัญญะกับการรู้ชัดเจนขึ้น
แต่ขณะจิตที่กำลังบริกรรม ไม่ใช่จิตรู้
สิ่งหลักที่ควรเพียรให้เกิดอย่างต่อเนื่องคือ การรู้

พระกัจจายนเถระ ผู้เป็นเอตทัคคะในการขยายความย่อให้พิสดาร
กล่าวขยายความการเจริญสติ ไว้ว่า
"แม้มีตาก็ควรทำเป็นคนตาบอด
แม้มีหูก็ควรทำเป็นคนหูหนวก
แม้มีปัญญาก็ควรทำเป็นคนใบ้
แม้มีพละกำลังก็ควรทำเป็นคนไร้กำลัง"

คือ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น (ไม่ปรุงแต่งทางความคิดกับสิ่งที่เห็น) เป็นต้น


# ด้วยวิธีการเหล่านี้
เบื้องต้น : จิตจะเกิดปัญญาละความเห็นผิดว่า "กาย+ใจ คือ ตัวเรา" ลงได้
กาย+ใจ เป็นทุกข์ และบังคับไม่ได้
เบื้องปลาย : จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ละความยึดถือในกายและใจลง ไม่แสวงหาการเกิดอีก

# จิตไปทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วไม่รู้
เท่ากับ จิตถูกครอบงำด้วยโมหะ หรือความหลง ซึ่งเป็นอกุศลจิต

# เมื่อรู้อย่างถูกต้อง (ไม่คิด, ไม่เพ่ง, เป็นกลาง, คล่องแคล่ว)
จิตขณะนั้นจะเป็น มหากุศลจิต (ญาณสัมปยุตต์)
เป็นมหาบุญ (ตามคำจำกัดความของ บุญ ซึ่งเปลว่า เครื่องชำระจิตให้สะอาด)
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"เมื่อบุคคลมีความรู้สึกตัว
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป"


คนส่วนมาก ปล่อยจิตให้หลงทั้งวันทั้งคืน ไปกับความคิด อดีตบ้าง อนาคตบ้าง สิ่งต่างๆรอบตัวบ้าง
=> อกุศลที่สะสมไว้มากกว่ากุศลจิตมาก
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนส่วนมากเมื่อตาย มักจะไปเกิดในทุกขคติภูมิ

ทั้งเมื่อพลาดตกลงไปทุกขคติภูมิแล้ว ยากยิ่งจะกลับมาเป็นมนุษย์อีก
เพราะ อยู่ในที่ๆไม่เอื้อสร้างกุศล (เช่น ไปเป็นเดรัชฉานบ้าง ทนทุกข์อยู่ในนรกบ้าง) เป็นต้น

หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางก็ยังไม่ขาดสาย รีบเดินเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนรอยเท้าของท่านเหล่านี้จะหายไป
พระปราโมทย์ ปาโมชโช


มีโอกาสได้เป็นมนุษย์แล้ว ห้ามพลาด !!!

ถ้าเป็นคนมีเวลาในการปฏิบัติน้อย, อ่าน
http://siripong-buddhism.blogspot.com/2010/08/time-for-practice-of-meditation.html

No comments:

Post a Comment