Wednesday, September 22, 2010

คู่มือเลือกเกิด(เป็นมนุษย์)

การที่พระพุทธเจ้า "ตรัสรู้" นั้นหมายถึง พระองค์ทรงค้นพบกฏของธรรมชาติ
(พระองค์ไม่ได้กำหนดกฏนี้ขึ้น กฏมันมีอยู่แล้ว - พระองค์เพียงค้นพบล่วงรู้ ถึงกฏนี้)
= คนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่านับถือศาสนาใด ก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาตินี้

สัตว์เดรัจฉานแทบจะทั้งหมด จะลืมอดีตแต่หนหลัง
มีจิตผูกติดอยู่กับประสาทหยาบ ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณและอารมณ์
หรือเหม่อลอยไร้จุดหมาย วันๆเคลื่อนที่จากจุดหนึ่ง ไปหาอีกจุดหนึ่งเรื่อยเปื่อย
(แม้ใครอุทิศส่วนกุศลมาให้แรงขนาดไหน จิตก็ไม่อาจโงหัวขึ้นรับรู้
เพราะมีเปลือกหนาๆ ของอัตตภาพสัตว์ห่อหุ้มจิตวิญญาณอยู่)
ไม่รู้ว่าจะทำอะไรให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม
(หรือ ทรมานอยู่ใน นรกภูมิ ก็เหมือนกัน)
ไม่มีโอกาสในสร้างสมบุญกุศลใหม่

ดังนั้น เมื่อพลาดลงไปอบายภูมิแล้ว
(วิบากกรรมที่เคยทำมา เรียงคิวเข้ามาส่งผล)
ยากยิ่งที่จะได้วนกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงอุปมาไว้ว่า
ให้โลกทั้งโลกปกคลุมด้วยน้ำ มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ในทะเล
ทุกๆ 100 ปี เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่หัวขึ้นมาจากทะเลครั้งหนึ่ง
ในทะเลมีห่วงเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่าหัวเต่าหน่อยหนึ่งลอยอยู่ 1 ห่วง
โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมา แล้วหัวสวมเข้ากับห่วงพอดียากเพียงใด
โอกาสนั้นก็ยังมีมากกว่า การที่เหล่าสรรพสัตว์จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์


พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี ว่า
"สัตว์ที่ตายจากมนุษย์ กลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย
สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ ไปเกิดเป็น เดรัจฉาน,เปรต, สัตว์นรก มากกว่าโดยแท้"


ธรรม(ชาติ) ที่เกี่ยวข้องกับการไปเกิดใหม่
รวมถึงวิธีการสร้างเหตุ ที่นำเราไปเกิดเป็นมนุษย์ในภพภูมิถัดไป
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน เป็นดังนี้

ธรรมชาติของจิต
===============
จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น, สัมผัสไม่ได้ด้วยกาย, ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสัน วรรณะใดๆ
แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริง

"หนึ่งขณะจิต" ก็คือ ๑ รอบการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของดวงจิต
มันจะรับรู้เพียงหนึ่งเรื่อง ตามอายตนะที่มันไปเกิด (จิตเป็นธาตุรู้)

จิตไปเกิดที่ตา ก็จะรู้รูปที่ปรากฏทางตา
จิตไปเกิดที่หู ก็จะได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู
จิตไปเกิดที่จมูก ก็จะรู้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก
จิตไปเกิดที่ลิ้น ก็จะรู้รสที่ปรากฏทางลิ้น
จิตไปเกิดที่กาย ก็จะรู้ความรู้สึกต่อการสัมผัสทางกาย
จิตไปเกิดที่ใจ ก็จะรู้สึก นึก คิด

และบันทึกสิ่งที่รู้นั้นๆ ให้จมเข้าไปในส่วนลึกของจิต

ชั่วเวลาดีดนิ้ว จิตจะมีการเกิดดับ สี่ล้านล้านครั้ง
เร็วจน เราคิดว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน

ก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
พระองค์ทรงได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ญาณระลึกชาติไม่มีที่สิ้นสุด)
= ที่ระลึกได้ก็มาจากพลังของจิตของพระองค์ท่าน
ที่จะดึงสิ่งที่เคยบันทึกไว้ในจิตของพระพุทธองค์ขึ้นมาย้อนดูนั่นเอง

เราจึงสามารถเปรียบท่านเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ ที่มีอายุ หลายล้านปี
พบเห็น ผ่านประสบการณ์ ต่างๆมามากมาย
เกิด+ตาย มาแล้ว นับครั้งไม่ถ้วน


ค้นพบว่า สิ่งดี-ไม่ดี ใดๆที่ทำแล้ว จะได้รับผลอย่างไร
แล้วท่านก็ทรงสรุป และตรัสสอนว่า

-- ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว --

ให้มองผลของกรรมให้ยาวๆ อย่ามองแค่ปัจจุบันชาติ

นอกจากทรัพย์ทางโลก เอาไว้ใช้ในปัจจุบันชาติแล้ว
สะสมบุญ เผื่อเป็นเสบียงไว้ชาติหน้าด้วย


เมื่อใกล้จะตาย
==========
คนใกล้ตาย จะมีอาการที่เรียกว่า เข้าขั้นตรีทูต
อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะทยอยดับ (หมดสภาพ - ไม่สามารถรับรู้ได้)

เมื่อจิตที่เคยผ่านการตายมานับครั้งไม่ถ้วน
ไม่สามารถรับรู้ทางอานตยะต่างๆที่ดับไป ย่อมรู้ว่ากำลังจะตาย
หวั่นไหวและ หาที่ยึดเหนี่ยว
และเนื่องจากธรรมชาติของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้
มันจะหันกลับมารับรู้จากข้อมูลเดิมที่เคยบันทึกอยู่ในจิต
จะมีการทบทวนอดีตที่ผ่านมาเป็นฉากๆ อย่างรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ (life review)

เมื่อตอนใกล้ตาย เช่น มีลูกหลานทะเลาะกันอาจจะแย่งสมบัติกัน หรือคิดห่วงทรัพย์สมบัติ
หรือมีเครื่องให้ระลึกถึงสิ่งที่เคยทำมา (เช่น ว่าเคยฆ่าสัตว์)
,อารมณ์สุดท้ายที่เข้ามาสู่ใจ และตายไปในอารมณ์นั้นๆ
จิตก็จะไปปฏิสนธิ สร้างรูป นรก-สวรรค์
ตามการปรุงแต่งจินตนาการของจิต
แล้วก็เสวยอารมณ์ ในภพภูมินั้น


โกรธแค้นใคร อาฆาตพยาบาทใคร
จิตก็อาจจะปรุงแต่งที่ที่ร้อนมากๆ ดังกะทะทองแดง

หวาดระแวง เมื่อกระทำความผิด เช่น ขโมยของ
จิตก็อาจจะปรุงแต่งว่าถูกตามล่า

อิ่มเอบใจเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น
จิตก็อาจจะปรุงแต่งที่เย็นๆขึ้นมาเป็นวิมาน เป็นต้น


"หน้าที่หนึ่งของนรก-สวรรค์ คือ ให้ผลเป็นสุข-ทุกข์ ที่ยืดเยื้อ ยาวนาน"


ขณะให้ทาน แต่จิตอยากได้นู่นได้นี่
เช่น ตักบาตร เพราะอยากจะได้บุญ
(ไม่มีความอิ่มเอมใจ ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น)
จิตก็น่าจะปรุงแต่งภพภูมิเปรตขึ้นมา มากกว่าสวรรค์


จงระวังสิ่งที่คุณคิด(ไม่ดี) ; มันจะกลายเป็นคำพูด.
จงระวังคำพูดของคุณ ; มันจะกลายเป็นการกระทำ.
จงระวังการกระทำของคุณ ; มันจะกลายเป็นนิสัยติดตัว.
จงระวังนิสัยของคุณ; มันจะกลายเป็นบุคลิก.
จงระวังบุคลิกของคุณ; มันจะกลายเป็นโชคชะตา.

จงคิดดี


กรรมที่จะนำไปเกิด
==============
กรรมที่จะนำไปเกิดในภพภูมิถัดไป มีอยู่ ๔ ชนิด คือ
๑. ครุกกรรม คือ กรรมหนัก
๒. อาสันนกรรม คือ กรรมที่กระทําในเวลาใกล้จะตาย
๓. อาจิณณกรรม คือ กรรมที่กระทําอยู่เสมอๆ
๔. กฏัตตากรรม คือ กรรมอื่นนอกเหนือจาก 3 กรรมข้างต้น (ทั้งในอดีตชาติ และปัจจุบันชาติ)

# ครุกกรรม
ครุกกรรม หมายถึง กรรมที่หนักแน่นจนกรรมอื่นๆ ไม่สามารถห้ามการให้ผลได้

ครุกกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบาป และฝ่ายบุญ

1. ครุกกรรมฝ่ายบุญ
ผู้ที่บําเพ็ญฌาน เมื่อเจริญสําเร็จแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อตายจากโลกมนุษย์ จะต้องได้รับผลกรรมนั้นในชาติที่สองทันที
คือ นําไปเกิดเป็นพรหมในชั้นรูปพรหม หรือ อรูปพรหม

ส่วน โลกุตตรกุศลกรรม เช่น บำเพ็ญจนบรรลุโสดาบันผล
จัดว่าเป็นกรรมหนัก ฝ่ายบุญเหมือนกัน
แต่จะทําลายการเกิด ไม่จัดเข้าเป็นกรรมในหมวดนี้

2. ครุกกรรมฝ่ายบาป ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มความเห็นผิด และกลุ่มอนันตริยกรรม

กลุ่มความเห็นผิด คือ ผู้ที่มีความเชื่อข้อใดข้อหนึ่งอันได้แก่
ก. ไม่มีผล - ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรม เช่น "ทําดีได้ดีมีที่ไหน ทําชั่วได้ดีมีถมไป"
ข. ไม่มีเหตุ - ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทําให้ได้ผลดีผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทําดี ทําชั่ว
ค. ปฏิเสธทั้งเหตุและผล - การทําบุญทําบาปก็เท่ากับไม่ได้ทํา

อนันตริยกรรม คือ กรรมที่ประมาณค่ามิได้ อันได้แก่
ก. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
ข. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
ค. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
ง. โลหิตุปบาท ทําให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต
จ. สังฆเภท ทําให้สงฆ์เกิดความแตกแยกไม่ทําสังฆกรรมร่วมกัน

# อาสันนกรรม
อาสันนกรรม หมายถึง กรรมที่ทำไว้เมื่อใกล้จะตาย ที่ทำให้จิตพะวง หรือ ยังให้จิตบังเกิดปิติ

ดังเช่น พระนางมัลลิกา ทํากุศลไว้มาก แต่ในเวลาใกล้ตายนางนึกถึงอกุศลที่เคยทําไว้
อกุศล ที่นึกถึงในขณะใกล้ตายนั้นเอง นําให้นางไปเกิดในนรก
กุศลที่ทําไว้ไม่มีโอกาสส่งผลนําไปเกิด ในกามสุคติภูมิ

เมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยใกล้ตาย, แทนที่จะร้องไห้ฟูมฟาย ให้ผู้ที่กำลังจะจากไปจิตใจเศร้าหมอง
เปลี่ยนเป็นคำพูดที่ให้ผู้นั้นคลายความยึดมั่นในความมีความเป็น เช่น
"รอผมบนสวรรค์นะครับ" หรือ "แล้วหนูจะพยายามส่งบุญตามไปข้างบนนะคะ"
ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล น่าจะดีกว่า


เรื่องกุศล หรือ อกุศล (รวมถึงกุศลจิต และ อกุศลจิต)
นั้นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันเยอะ
ยกตัวอย่างเช่น ความตาย

สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นธรรม(ดา)แล้ว, "ความตาย" ถูกมองเป็นเรื่องอกุศล เป็นเรื่องอัปมงคล
แต่สำหรับผู้เข้าใจโลก ดังเช่น พระพุทธเจ้า
"ความตาย" เป็นสิ่งที่ "ธรรมดา" หาใช่เรื่องอกุศลไม่
หลังจากพระองค์ท่านตรัสรู้, ท่านทรงเจริญมรณานุสติทุกลมหายใจ

* คนทั่วไปไม่ได้เจริญสติ ในชีวิตประจำวัน
,จิตถูกครอบงำด้วยโมหะ (ซึ่งเป็น อกุศลจิต) อยู่แทบตลอดเวลา
เช่น ขณะสนุกสนานเพลิดเพลิน (ดูหนังดูละคร รับประทานอาหารอย่างเฮฮากับเพื่อนฝูง)
ถ้าในขณะนั้นมีเหตุ ที่ต้องเสียชีวิตลง
,อกุศลเหล่านั้น สามารถนําไปเกิดในอบายภูมิได้

# อาจิณณกรรม
อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมที่เคยทําไว้เสมอ ๆ เป็นกรรมที่บุคคลสั่งสมไว้บ่อยๆ

คําว่า ทําบ่อยๆ ไม่ใช่หมายถึงเพียงจะต้องทําทางกายตลอดเวลา
ถ้าเป็นกรรมที่ทําครั้งเดียว แต่นึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมแล้ว
(เช่น คิดพยาบาทมาดร้าย จองล้างจองผลาญคู่อริ)

ในสมัยพุทธกาล มีคนฆ่าหมูชื่อนายจุนทะ ฆ่าหมูทุกวัน
เมื่อนายจุนทะใกล้ตาย เขาร้อง เป็นเสียงหมูเมื่อตอนถูกเชือด
กรรมที่เขาทําอยู่เสมอๆ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่กรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผล
แต่มาส่งผล เมื่อใกล้ตาย นำไปเกิดในทุคติภูมิ



ลําดับการส่งผลของกรรม
==================
กรรมที่จะนำไปเกิด ๔ ประเภทข้างต้น จะส่งผลเรียงไปตามลําดับ ดังนี้

ลําดับที่ ๑ คือ ครุกกรรมจะส่งผลนําไปเกิดในชาติต่อไป
ลําดับที่ ๒ คือ ถ้าไม่มีครุกกรรม อาสันนกรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนําไปเกิดในชาติต่อไป
ลําดับที่ ๓ คือ ถ้าไม่มีครุกกรรมและอาสันนกรรม อาจิณณกรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนําไปเกิดในชาติต่อไปได้
ลําดับที่ ๔ คือ ถ้าไม่มีกรรมทั้ง ๓ อย่างข้างต้น กฏัตตากรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนําไปเกิดในชาติต่อไปได้เป็นลําดับสุดท้าย

(โดยทั่วไป อาจิณณกรรม มักมีโอกาสให้ผลมากที่สุด)

สร้างเหตุที่จะนำส่งให้ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์
========================
1) รักษาศีล ๕ เป็นประจำ

2) เตรียมเสบียงสำคัญสำหรับการตายแบบปัจจุบันทันด่วน คือ การเจริญสติ อยู่เนืองๆ
คล้ายเรียน 12 ปีเพื่อจะสอบเอ็นทรานเข้ามหาวิทยาลัย
กับฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ เพื่อการเอ็นทรานสุคติภูมิ
ซึ่งถ้าพลาดแล้ว อีกน้าน...จึงเปิดให้สอบอีกครั้ง
จิตต้องมีคุณภาพดีเพียงพอ จึงจะสอบผ่าน
เราทุกคนยื่นสมัครสอบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่รู้กำหนดสอบจะมาถึงเมื่อไหร่
จะเตรียมตัว เตรียมใจอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณ


3) ปิดกั้น ไม่เอาอกุศลกรรมในอดีต ที่ผ่า่นไปแล้ว
ขึ้นมาสะสมตอกย้ำ ซ้ำไปซ้ำมา จนกลายเป็น "อาจิณณกรรม"

อดีต คือ ความฝัน
ปัจจุบัน คือ ความจริง
อนาคต คือ สิ่งไม่แน่นอน

(แต่ความตายเป็นของแน่นอน)

ศีล ๕
======
อกุศลกรรมบถ แปลว่า ทางทำความชั่ว กรรมชั่ว อันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์หรือทุคติ
(ได้แก่ ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดประเวณี,
พูดเท็จ พูดไม่จริง สอดเสียด หยาบคาย, พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น เป็นต้น)


ซึ่งทางสายนี้จะนำบุคคลไปอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน

ดังนั้น ถ้าไม่อยากไปเกิดเป็น สัตว์นรก เปรต อสูรกาย เดรัจฉาน
ประการแรก จึงต้องตั้งตนไว้ในธรรมของมนุษย์ คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ ศีล ๕

"สีเลนะ สุคติง ยันติ"
ผู้มีศีล ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลก


- มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกายมหาวรรค -


การเจริญสติ
=============
การเจริญสติช่วยให้เราได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในภพภูมิถัดไปได้อย่างไร

1) เมื่อเจริญสติอย่างถูกต้อง จิตขณะนั้นจะเป็น มหากุศลจิต
เมื่อหมั่นเจริญสติอยู่เป็นประจำ ก็เป็น
- การสะสมบุญ
- ปิดกั้นไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้น หรือ ระงับอกุศลจิต เช่น ความโกรธ ได้เร็ว

2) เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุ,
ผู้ที่เคยชินกับการเจริญสติ จะสามารถระงับวิถีของ อกุศลจิต เช่น ความกลัว
เป็น มหากุศลจิต พาไปยังภพภูมิที่ดีได้


จิตที่มีปัญญา
=========
พฤติกรรมของจิตข้างต้น เป็นลักษณะของจิตที่ยังไม่มีปัญญา
มีความหลงผิดในขันธ์ (กาย เวทนา สุข-ทุกข์ ความจำ ความคิด เป็นต้น) ว่าเป็นตัวตน(จิต)
จึงยังถูกชักนำ (ด้วยตัณหา) ให้แสวงหาการเกิด
ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ ตามกรรมที่สะสมมา

"เกิด" ก็ด้วย "ความหลงผิด" ของจิต
"ไม่เกิด" ก็ด้วยพลังของจิต


ในทางกลับกัน, ถ้าจิตมีปัญญา รู้ว่าที่จริงแล้วขันธ์ ๕
(กาย เวทนา ความจำ ความคิด เป็นต้น) ล้วนไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น
(เข้าใจความจริงที่ว่า การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป)
เมื่อหมดสิ้นวิบากขันธ์ (รูปกายจะดับก็ให้มันดับไป ไม่หวั่นไหว)
ไม่แสวงหาการเกิดอีก จะจบสิ้นการเวียนว่ายตายเกิด (นิพพาน)

วิธีจะอบรมจิตให้เกิดปัญญาข้างต้น
(ไม่ว่าแค่ความคิดความจำ ยึดถืออย่างนั้น)
ต้องใช้วิชาเฉพาะของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า วิปัสสนา (หรือการเจริญสติ) เท่านั้น


วิธีเจริญสติ (สำหรับชาวเมือง) ในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ไปที่
http://siripong-buddhism.blogspot.com/2010/09/my-brief-vipassana-bhavana.html


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
เป็นการยากที่ได้เกิดเป็นมนุษย์
เป็นการยากที่ชีวิตสัตว์จะได้ อยู่สบาย
เป็นการยากที่จะได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ
เป็นการยากที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติมา


เราสะสมบุญมาดี จึงได้เกิดมาเป็นคนไทย ในตอนนี้ ที่พุทธศาสนายังคงดำรงอยู่
จึงควรเห็นคุณค่า อย่าให้เสียโอกาส เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
เอาใจใส่รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ให้มั่นคง
การเลือกทางดำเนินชีวิตของเราให้ดีที่สุด

ที่มา:
พระอภิธรรม
สมดุลย์โลก สมดุลย์ใจ - พระอาจารย์ภาสกร ภูริวัฑฒโน
ณ มรณา - ดังตฤน

No comments:

Post a Comment