Thursday, September 23, 2010

การกรวดน้ำ

ในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้า
ทรงออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีปช่วงแรกๆนั้น
ยังไม่มีธรรมเนียมการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ตาย
หรือบรรพบุรุษของผู้กระทำกุศลแต่อย่างใด

จนกระทั่งพระเจ้าพิมพิสาร มหาราชแห่งแคว้นมคธ
ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
และทรงถวายสวนไผ่ให้เป็นวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า

ซึ่งสวนไผ่แห่งนั้นได้กลายเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ที่มีชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน”

แต่การบำเพ็ญกุศลอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าพิมพิสารครั้งนี้
ก็ยังไม่ได้มีการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย
เนื่องจากยังไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติ

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารบรรทมในคืนนั้น
ก็ทรงพระสุบินเห็นเปรตหลายตนมาขอส่วนบุญ
รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารจึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์จึงตรัสให้พระเจ้าพิมพิสาร
ทรงถวายทานแก่พระสงฆ์อีกครั้ง
พร้อมกับให้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ

พอตกดึก เหล่าเปรตทั้งหลายก็ได้มาปรากฏตัว
ในพระสุบินของพระเจ้าพิมพิสารอีกครั้งหนึ่ง
แต่มาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
และขออนุโมทนาในส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศไปให้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
พระพุทธองค์ตรัสว่าพวกเปรตเหล่านั้นในอดีตชาติ
เคยเป็นพระญาติของพระองค์

โดยครั้งนั้น, พระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งหมู่ญาติ
ได้ตระเตรียมจะถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์
อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข

แต่เมื่อพระภิกษุสงฆ์ยังมิได้ฉันภัตตาหารนั้น
พวกญาติบางคนเกิดหิว จึงหยิบอาหารที่เตรียมไว้มารับประทาน
ด้วยผลกรรมนั้นพวกเขาจึงเกิดเป็นเปรต
เรียกว่า “ปรทัตตูปชีวิต”
(เปรตผู้อาศัยส่วนบุญที่คนเขาอุทิศให้ยังชีพ)

แต่เมื่อไม่มีญาติพี่น้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้
จึงผอมโซไปตลอดกาล
แต่เมื่อพระองค์ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้
พวกเขาก็ได้รับดังกล่าวแล้ว

เหล่านี้คือที่มาของการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลในสมัยพุทธกาล
ซึ่งเพียงตั้งจิต ไม่ต้องมีการกรวดน้ำ

ปัญหาคือ ยังค้นหาแหล่งอ้างอิงในพระไตรปิฏกของบทความนี้ไม่เจอ

แต่การเอาน้ำมารินที่เรียกว่ากรวดน้ำนั้น มีมาเพิ่มในภายหลัง
โดยบางท่านสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนนิยมใช้น้ำรินลงที่มือคนรับ
ดังเช่นพระเวสสันดรตอนพระราชทานสองกุมารแก่พราหมณ์ชูชก
ทรงยกคนโทน้ำรินน้ำลงที่มือของพราหมณ์
เป็นสัญลักษณ์ว่า “ให้เป็นการเด็ดขาด”

แต่ในปัจจุบันนี้การใช้น้ำริน
อันเรียกกันตามภาษาเขมรว่า “กรวด”
จึงเรียกธรรมเนียมนี้ว่า “กรวดน้ำ”

No comments:

Post a Comment