Saturday, October 9, 2010

วิธีภาวนา โดย ท่านเขมรังสีภิกขุ

ให้ดูลมให้ใจเข้าออก (ตามสมควร เพื่อให้มีสมาธิบ้าง)
แล้วสังเกตความรู้สึก
ระลึกเข้าไปถึงจิตใจ ใจผู้รู้ และใจที่รู้สึกด้วย

สังเกตว่า ขณะที่หายใจเข้าออกนั้น
หายใจเข้าออกก็อย่างหนึ่ง
ใจที่ระลึกรู้ลมหายใจว่าเข้าออกนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง (คือมีใจที่รู้อยู่)
แล้วใจที่รู้นี้มีความรู้สึกอย่างไร
สบายใจก็รู้ ไม่สบายใจก็รู้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้
(ในขณะเดียวกัน ก็ยังรู้ลมหายใจอยู่นะ
รู้ลมหายใจเข้าออก แต่สังเกตความรู้สึกในใจด้วย)

ฝึกมากๆเข้า ก็จะทิ้งบัญญัติ คือ ทิ้งรูปร่าง ทิ้งความหมาย
ไม่มีรูปร่าง ไม่มีชื่อภาษา ไม่มีความหมายใดๆ มีแต่ความรู้สึก
ถึงตอนนี้ ไม่ต้องเกาะกับลมหายใจแล้ว
ก็จะเห็นว่าความรู้สึกทางกายใจนั้น มีความเกิดดับ
มีความเปลี่ยนแปลง มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ที่สุดก็เกิดปัญญารู้แจ้งว่าชีวิตเป็ฯเพียงสักแต่สภาพธรรม
ที่มีความเกิดขึ้นและดับไปโดยธรรมดา บังคับบัญชาไม่ได้
ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา ว่าเป็นตัวตนของเรา
ก็เข้ามาสู่วิปัสสนาได้อย่างเต็มที่

การปฎิบัติต้องมีความอดทน มีวิริยะความพากเพียร
มีการพิจารณาการใส่ใจ ปล่อยวาง วางท่าทีอย่างถูกต้อง
แล้วสภาวธรรมเหล่านั้นเขาจะคลี่คลายให้เห็น
เปลี่ยนแปลงให้เห็น และดับไปให้เห็นเอง

หน้าทีของการปฎิบัติ คือ การเข้าไปเรียนรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ไม่ได้มีหน้าที่ไปบังคับ (ไม่ต้องไปคิดให้มันดับ)
เขาเกิดอย่างไร เขาปรากฎอย่างไร เขามีเหตุมีปัจจัยอย่างไร แสดงอาการอย่างไร
ก็ดูเขาไปอย่างนั้น ดูเขาด้วยความวางเฉย

เริ่มต้นดู ก็ทำเหมือนไม่ตั้งใจจะทำ
ปล่อยวางทุกอย่างธรรมดา ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป
ถ้าหากเกิดความเคร่งตึง สติเข้าไปรู้ความเคร่งตึง ผ่อนตามไป
รู้สึกว่ามันจะเคลื่อนไปตรงไหน ก็รู้ไปตรงนั้น ผ่อนตามไปตรงนั้น
ไม่มีการฝืน ทั้งกายและจิตใจ
ไม่มีการบังคับจิตว่าจะต้องมาดูเฉพาะตรงนี้

ที่มา: อาจริยบูชา ๕๕ ปี ท่านเขมรังสี ภิกขุ
๓ ธันวาคม ๒๕๔๙

No comments:

Post a Comment